ย้อนรอยคดี‘โกงผ่านวัด’ปิดช่องโหว่ทุจริต

ย้อนรอยคดี‘โกงผ่านวัด’ปิดช่องโหว่ทุจริต

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัย TDRI ย้อนอดีตคดี 'เงินทอนวัด' การทุจริตคอร์รัปชันที่เลื่องลือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอวิธีป้องกัน

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI (Corruption Perception Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุว่า ปี 2563 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จัดอยู่ในอันดับ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยผลการอันดับลดลงจากจากปี 2562 เดิมอยู่ในอันดับที่ 101 ลดลงมาอีก 3 อันดับ

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่นานาชาติรวมถึงไทยเองเฝ้าติดตามอยู่ตลอด แต่ปัญหานี้ก็ยังคงเกิดขึ้นทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่ในวัด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คดี “เงินทอนวัด” หรือคดีการทุจริตเงินอุดหนุนวัดของเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักงาน พศ.) เป็นข่าวทุจริตที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนา

161659043874

เมื่อย้อนรอยคดี พบว่า การทุจริตเงินทอนวัดเกิดขึ้นก่อนปี 2558 โดยเจ้าหน้าที่สำนักงาน พศ. เข้าไปติดต่อเจ้าอาวาสวัดในแต่ละจังหวัดเพื่อเสนอเงินอุดหนุนให้แก่วัด แต่มีเงื่อนไขว่าทางเจ้าอาวาสวัดจะต้องเขียนโครงการเข้ามาเพื่อเสนอของบประมาณกับสำนักงาน พศ. พิจารณาอนุมัติ

โดยเป็นเงินอุดหนุนให้วัดทำกิจกรรม 3 ประเภท ได้แก่

1) เพื่อบูรณะซ่อมแซม/บูรณปฏิสังขรณ์วัด

2) เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม

3) เพื่อการเผยแพร่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

เมื่อวัดได้รับอนุมัติเงินอุดหนุนแล้วจะต้องเบิกจ่ายเงิน และนำส่งคืนให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงาน พศ. ที่ไปติดต่อเพื่อเป็นค่าสินบน ซึ่งเรียกกันว่า เงินทอนวัด ในอัตราส่วนตามที่ได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ สำนักงาน พศ. ไว้ตั้งแต่แรก

จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบคดีเงินทอนวัด เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อพระครู ก. (นามสมมุติ) เจ้าอาวาสวัดจังหวัดเพชรบุรี ได้ร้องเรียนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังจากที่พบความผิดปกติของการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนในการสร้างวัด โดยข้าราชการสำนักงาน พศ. ให้วัดต้องทอนเงินสร้างพระอุโบสถมากถึง 10 ล้านบาท และวัดได้รับเงินในการสร้างพระอุโบสถจริงเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น

สำนักงาน พศ. จึงเริ่มดำเนินการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดร่วมกับ บก.ปปป. พบเอกสารการทุจริตงบบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 เป็นการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนวัด 33 แห่ง และจากการตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัดดังกล่าวพบมูลค่าความเสียหายมากกว่า 270 ล้านบาท

นอกจากคดีเงินทอนวัดดังกล่าวแล้ว อีกกรณีโด่งดัง ย้อนไปเมื่อปี 2556 หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ขอรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินจากประชาชนเพื่อก่อสร้างพระแก้วมรกต (จำลอง) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรในการจัดสร้าง รวมทั้งสถานที่พักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ก็ไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวัดแต่อย่างใด

หลวงปู่เณรคำ ยังร่วมกับบริษัท ขันติธรรมก้าวหน้า จำกัด ดำเนินการขอรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนการก่อสร้างโรงพยาบาลร้อยเอ็ด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข หลวงปู่เณรคำได้ประกาศเชิญชวนให้คนทั่วไปร่วมบริจาคเงินหรือทรัพย์สินตามโครงการหรือกิจกรรมที่เลือกไว้ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญ

เมื่อมีการบริจาคจากคนทั่วไปแล้ว ได้มีการเริ่มก่อสร้างหรือทำกิจกรรมเพียงบางส่วนเท่านั้นเพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีการดำเนินการจริง แต่ทว่าไม่ได้มีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แต่กลับนำเงินที่ได้จากการรับบริจาคไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น ซื้อที่ดิน ก่อสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ราคาแพง ฯลฯ

161659057681

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยเช่นนี้อีก ต้องมีการทบทวนช่องโหว่ที่วัดถูกใช้เป็นเครื่องมือของการทุจริตเงินทอนวัดและการใช้เงินทำบุญ รวมทั้งการรับบริจาคที่ผิดวัตถุประสงค์

ช่องโหว่สำคัญ คือ ไทยมีวัดเป็นจำนวนมากกว่า 41,000 แห่ง กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กอปรกับวัดมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งเงินที่ได้รับอุดหนุนจากภาครัฐเฉลี่ยกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท รวมทั้งเงินที่ได้จากการทำบุญ กล่องรับบริจาค กฐิน ผ้าป่า ฯลฯ หากแต่การบริหารจัดการการเงินภายในวัดอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัด ซึ่งต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการจัดทำบัญชีการเงิน และเจ้าอาวาสอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หากผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิด

แม้ว่าภายใต้แนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้วัดต้องมีการจัดทำบัญชีวัด หากแต่การจัดทำบัญชีดังกล่าวให้วัดเก็บรักษาไว้ที่วัด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขอเป็นวัดพัฒนา และเมื่อมีชาวบ้านร้องเรียนเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเปิดเผยสาธารณะเป็นหลัก

ขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) กำหนดให้วัดจัดทำรายงานบัญชีรายรับ รายจ่ายของวัด เพื่อส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุก 1 เดือน แต่ก็มิได้มีการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบเกี่ยวกับยอดเงินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐ ยอดเงินบริจาค และค่าใช้จ่ายของวัดทำให้ขาดการตรวจสอบจากชุมชนและสาธารณะ

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำทุจริตเช่นที่ผ่านมา และเพื่อให้วัดคงไว้ซึ่งความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จำเป็นต้องมีมาตรการในการป้องกันเบื้องต้น โดยการจัดหาหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินการช่วยวัดในการจัดทำบัญชีวัด โดยต้องระบุรายละเอียดรายรับ-รายจ่ายให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดภาระแก่เจ้าอาวาส และเพื่อให้มีการจัดทำบัญชีวัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อหน่วยงานภายนอกจัดทำบัญชีแล้ว ให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำรายงานด้านการเงินเพื่อ 1) ปิดประกาศในพื้นที่บริเวณวัดที่พุทธศาสนิกชนในชุมชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ 2) นำส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในทุก 6 เดือน และรายงานดังกล่าวควรต้องมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน พศ. ด้วย

นอกจากนี้แล้ว การให้เงินสนับสนุนแก่วัดที่เสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ สำนักงาน พศ. ควรประเมินผลการดำเนินงานของวัดในโครงการที่ผ่านมา รวมทั้งตรวจสอบเอกสารการเงิน การเบิกจ่าย และการใช้จ่ายเงินในโครงการดังกล่าวว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อให้กิจกรรมของวัดดำเนินต่อไปได้ด้วยความโปร่งใสและด้วยความเชื่อถือ ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อไป.