ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเป็น ‘โรคอัลไซเมอร์’
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงการมียีน APOE ประเภท e2, e3 และ e4 ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละคนมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์แตกต่างกันเมื่อสูงอายุ
คนที่มียีน APOE ที่ได้รับ e4 จากทั้งบิดาและมารดาคือมี APOE (e4, e4) จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอาจมองว่าไม่เห็นจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อะไรมากนักสำหรับคนที่มียีนดังกล่าวเพราะเปลี่ยนแปลงยีนไม่ได้ แต่ในระยะยาวนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้เพราะขณะนี้มีบริษัท start-up ชื่อ Beam Therapeutics (และน่าจะมีบริษัทอื่นๆ) กำลังทำงานวิจัยที่จะตัดแต่ง APOE e4 ให้กลายเป็น APOE e2 ได้
แต่ ณ ปัจจุบันสิ่งที่สำคัญคืองานวิจัยที่พบจากสถิติผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ว่ากลุ่มคนที่มียีน APOE e4 ทั้งคู่ (ซึ่งในโลกน่าจะมีอยู่ประมาณ 15%) นั้นสามารถลดแความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ในตอนสูงวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในช่วงวัยกลางคน ซึ่งน่าจะเป็นข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอนในความเห็นของผม
การลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงนั้น สามารถทำได้โดยการดำเนินวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพโดยรวม (Healthy Lifestyle) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายให้เพียงพอ การกินอาหารเพื่อสุขภาพในปริมาณที่จำกัด การนอนหลับให้เพียงพอและการไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราในปริมาณที่จำกัด
แต่เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตัวที่ดีต่อสุขภาพนั้น ผมต้องขอยืมข้อสรุปของ Harvard T.H.Chan School of Public Health (22 July 2020) ที่กล่าวว่า “Prediabetes and type 2 diabetes are largely preventable. About 9 in 10 cases in the US can be avoided by making lifestyle changes”
ทั้งนี้งานวิจัยที่อ้างถึงสรุปว่า การมีน้ำหนักเกิน (overweight) จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากถึง 7 เท่าและหากเป็นโรคอ้วน (obese) จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากถึง 20 ถึง 40 เท่า แต่การลดน้ำหนักตัวลง 7-10% จะลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานลง 50%
ในทำนองเดียวกัน Mayo Clinic ประเมินว่าการลดน้ำหนักตัวลง 1 กิโลกรัมจะช่วยลดความดันโลหิตได้ 1mm Hg (และควรควบคุมไม่ให้เอวใหญ่เกินไป กล่าวคือผู้ชายเอวไม่เกิน 40 นิ้วและผู้หญิงไม่เกิน 35 นิ้ว)
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงคือการออกกำลังกาย ซึ่งมีงานวิจัยมากมายหลายชิ้นสรุปอย่างชัดเจนว่า การออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ เช่น
- งานวิจัยเมื่อปี 1999 (JAMA) เปรียบเทียบพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้หญิง 70,102 คนเป็นเวลา 6 ปีพบว่า
- กลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุดลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานลงถึง 46% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
- การเดินเร็วเพื่ออออกกำลังกายเพียงวันละ ½ ชั่วโมงจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานได้มากถึง 30%
- งานวิจัยเมื่อปี 2009 โดยอาศัยข้อมูลจากผู้หญิงผิวดำ 45,668 คน ติดตามพฤติกรรมการนั่งดูโทรทัศน์เป็นเวลา 10 ปีพบว่า
- การออกกำลังกาย 7 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์หรือมากกว่า ทำให้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลงประมาณ 57% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
- คนที่ดูโทรทัศน์เท่ากับหรือมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ดูโทรทัศน์วันละต่ำกว่า 1 ชั่วโมงถึง 86%
- การเดินเร็วเพื่อออกกำลังกายเท่ากับหรือมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ 33% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เดินออกกำลังกาย
นอกจากนั้น Mayo Clinic ยังกล่าวถึงการเดินอออกกำลังกายวันละ 30 นาที (สัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง) ว่าจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 5mm Hg ถึง 8mm Hg แต่ย้ำว่าจะต้องทำให้เป็นประจำเพื่อให้ความดันโลหิตลดลงอย่างถาวร กล่าวคือการออกกำลังกายจะต้องเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต
กลับมาถึงประเด็นหลักของเรื่องคือการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการเดินเร็วหรือวิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นมีงานวิจัยที่อังกฤษที่ติดตามการดำเนินชีวิตของผู้ชาย 2,235 คน (อายุ 45-59 ปี) เป็นเวลา 30 ปี (1979-2009) กลุ่มที่ดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 4 ประการจาก 5 ประการ
(คือไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและดื่มสุราอย่างจำกัด) นั้น ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ได้มากถึง 64% และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจมากถึง 50% ตลอดจนชะลอการมีอาการของโรคเส้นเลือดตีบตัน (delay vascular disease events) หรืออาการโรคหัวใจหรือเลือดอุดตันเสมองไปถึง 12 ปี
ครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยนี้และงานวิจัยอื่นๆ ที่มีผลสรุปอย่างชัดเจนว่าถ้าต้องการให้สมองแข็งแรงและมีสุขภาพดี ก็ต้องรีบหันมาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำครับ.