ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ (3)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ (3)

ต่อเนื่องตอนที่ 3 เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ โดย 2 ตอนแรกนำเสนอเรื่องยีนที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง ล่าสุดการออกกำลังกายที่ช่วยลดเสี่ยง

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงงานวิจัยที่อังกฤษที่ติดตามการดำเนินชีวิตของผู้ชาย 1,235 คน (อายุ 45-59 ปี) เป็นเวลา 30 ปี (1979-2009) โดยกลุ่มที่ดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 4 ประการจากทั้งหมด 5 ประการ (ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและดื่มสุราอย่างจำกัด) สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 64%

นอกจากนั้นนักวิจัยมีข้อสังเกตที่สำคัญอีก 3 ข้อคือ

1.มีคนที่ดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพครบ 5 ประการอย่างต่อเนื่องเพียง 2 คน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าหากทำได้ครบ 5 ประการแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากเพียงใด 

2.การประเมินผลอย่างละเอียดสะท้อนว่าการออกกำลังกายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการคาดการณ์ความเสี่ยง (important predictor) ของการเป็นโรคสมอง กล่าวคือการออกกำลังกายจะลดความเสี่ยงของการเกิดความบกพร่องทางสติปัญญา (cognitive impairment) ถึง 36% และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ถึง 59%

3.หากผู้ชายเพียงครึ่งหนึ่งของ 2,235 คน ปรับการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตามข้อแนะนำเพิ่มขึ้นอีกเพียง 1 ข้อ (ข้อใดก็ได้) ก็จะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 13% ความเสี่ยงะการเป็นโรคเบาหวาน 12% และการเป็นโรคเส้นเลือดตีบตันได้ 6%

บางคนอาจมองว่าตอนนี้ตัวเองอายุมากแล้ว คงจะสายเกินไปที่จะเริ่มต้นออกกกำลังกายแล้ว แต่ผมขออ้างอิงงานวิจัยอีก 3 ชิ้นที่มีข้อสรุปว่า it’s never too late to start exercising

  • งานวิจัยผู้สูงอายุ (เฉลี่ย 82 ปี) 716 คน พบว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยที่สุดมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุดกว่า 2 เท่าตัว
  • งานวิจัยเพื่อประมวลผลงานวิจัยรวม 26 ชิ้น สรุปว่าการออกกำลังกายมีผลโดยตรงต่อสติปัญญา (cognitive performance) ของผู้สูงอายุเกินอกว่า 60 ปีขึ้นไปและการออกกกำลังกายเป็นวิธีที่จะลดความตกต่ำและบกพร่องทางสติปัญญาเมื่ออายุมากขึ้น (exercise is an effective way to reduce cognitive decline in later life)
  • งานวิจัยคนชาวสกอตแลนด์ 638 คน สรุปผลว่าคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุ 70 ปี จะช่วยให้สมองหดตัวลงในอัตราที่ช้ากว่าคนที่ไม่ได้ออกกกำลังกาย

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านเรื่องของสุขภาพอย่างเป็นประจำคงจะเริ่มเห็นว่าข้อเขียนของผมจะวนเวียนอยู่เพียง 3-4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอยู่คือ

1.ปัญหาสุขภาพหลักที่เราต้องเผชิญคือโรคที่ไม่ติดต่อซึ่งมีอยู่ 5-6 โรคหลักๆ คือ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดตีบตัน (ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและ Stroke) โรคสมองเสื่อมและโรคมะเร็ง

2.โรคดังกล่าวนั้นมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันคือการที่เราแก่ตัวลงและเมื่อเราปล่อยให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกินว่าเกณฑ์

3.แนวทางในการแก้ไขนั้นไม่ใช่การรอรักษาที่ละโรค เพราะพอเป็นโรคหนึ่งโรคใดแล้วมักจะเป็นโยงกัน ทำให้เป็นพร้อมๆ กันเกือบทุกโรค ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อลดความสี่ยงจากการเป็นโรคร้ายดังกล่าวทุกประเภท

4.แนวทางที่ว่านี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้วคือการกินให้น้อย (เช่นการกินอาหารมื้อเย็นอย่างจำกัดและการจำกัดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว) การนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอและการไม่สูบบุหรี่และการดื่มสุราอย่างระมัดระวัง

ความเชื่อมโยงของโรคดังกล่าวข้างต้นนั้นเมื่อค้นคว้าเพิ่มเติมก็จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันในเชิงพื้นฐาน เช่น American Heart Association อ้างงานวิจัยที่พบว่าการเป็นโรคเบาหวานนั้นสามารถนำไปสู่ความผิดปกติของระดับคอเลสเตอรอล diabetic dyslipidemia ได้คือเมื่ออินซูลินไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดที่อยู่ที่ระดับสูงได้ก็จะทำให้ระดับของ LDL คอเลสเตอรอล (ที่ไม่ดี) เพิ่มขึ้นพร้อมไปกับระดับไตรกลีเซอไรด์(triglycerides) และระดับของ HDL คอเลสเตอรอล (ไขมีนที่ดี) ก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ภาวะดังกล่าวนั้นนอกจากจะกระทบกับร่างกายโดยรวมแล้วเมื่อกระทบกับสมองก็จะนำไปสู่การเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ดังที่กล่าวในตอนก่อนหน้าว่าโรคนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นโรคเบาหวานประเภท 3 แต่ก็มีข่าวดี (เล็กๆ) จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Arizona ตีพิมพ์เมื่อ 20 มีนาคม 2021 ใน EBio Medicine ชื่อ “Metabolic analysis of a selective ABCA1 inducer in obesogenic challenge provides a rationale for therapeutic development” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พบว่าโมเลกุล CL2-57 สามารถกระตุ้นการทำงานของยีน ABCA1 ที่ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปที่สมองให้ทำงานมากขึ้นเพื่อลดระดับของไขมันไม่ดีและเพิ่มไขมันดี ทำให้ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเส้นเลือดตีบตัน โรคเบาหวานและโรคสมองเสื่อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนักวิจัยกำลังจะทำการวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นยาที่ใช้รักษาโรคได้ต่อไปครับ.