เศรษฐกิจโลกหลังโควิด (2)

เศรษฐกิจโลกหลังโควิด (2)

บทความฉบับที่แล้ว เราได้คุยกันถึงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสรุปความได้จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

ประการแรกเป็นผลจากความสามารถในการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รวดเร็วและเป็นจำนวนมาก และประการที่สองเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในขนาดที่เพียงพอกับการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ผ่านมา

ล่าสุดทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้นำเสนอผลการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐสามารถจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.5 ในปีนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอียูจะขยายตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าคือร้อยละ 4.2 และเศรษฐกิจจีนก็จะขยายเติบโตได้ถึงร้อยละ 8 ในปีนี้

161848480927

คำถามที่ตามมาก็คือว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในเที่ยวนี้ จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางกลุ่มประเทศ ที่มีโอกาสจัดหาซื้อวัคซีนจำนวนมากได้ก่อนหรือไม่ อย่างไร

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่ยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อหาวัคซีนก็จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่ามาก เพราะการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะถูกจำกัดไม่ให้ทำได้เหมือนในภาวะปกติ เพราะวัคซีนหาได้ยากเนื่องจากตลาดวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นตลาดของผู้ขายที่เปิดโอกาสให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่า หาซื้อวัคซีนได้ก่อนและในราคาที่สูงกว่า

ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า ถ้าหากปัญหาโควิดยังคงแพร่กระจายต่อไปในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสที่เชื้อโรคเหล่านี้จะกลายพันธุ์และย้อนกลับไปแพร่ระบาดในประเทศพัฒนาแล้วอีกรอบ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไปด้วยหรือไม่

แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจึงหนีไม่พ้นที่จะมีลักษณะเป็นรูปตัว “K” มากกว่ารูปตัว “V” กล่าวคือในเริ่มแรกของการเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 นั้น เศรษฐกิจโลกทั้งหมดจะตกต่ำลงพร้อม ๆ กัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่ากลับมีเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่สามารถจะปรับตัวสูงขึ้นได้ ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและยากจนนั้นกลับยังคงตกต่ำลงต่อไปนั่นเอง

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้คาดการณ์ว่า ค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อปีต่อหัวที่ปรับลดลงในระหว่างช่วงก่อนหน้าวิกฤตการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วง ค.ศ.2020-2024 ในกรณีของประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้นพบว่า จะลดลงถึงร้อยละ 5.7 ในขณะที่ประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่นั้นก็จะมีตัวเลขเดียวกันที่ลดลงเป็นร้อยละ 4.7 แต่สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น กลับจะลดลงเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้น ซึ่งแสดงว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มขึ้นเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง 

ความยั่งยืนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึงทุกประเทศ (universal vaccination) เป็นสำคัญ ซึ่งดูได้จากเป้าหมายของหน่วยงานความร่วมมือระดับนานาชาติคือ “the COVID-19 Vaccine Global Access (COVAX)” ที่กำหนดว่า อย่างน้อยร้อยละ 27 ของประชากรของทุกประเทศทั่วโลก ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนครบกันภายในปลายปีนี้

ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงหนีไม่พ้น 2 แนวทางดังต่อไปนี้

แนวทางในขั้นตอนแรกคือ การเร่งควบคุมปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มประเทศยากจนที่เข้าไม่ถึงวัคซีน จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า เพื่อนำเงินทุนเหล่านี้มาใช้สนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสามารถเร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป และ

แนวทางในขั้นตอนที่สองคือ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ได้ใช้ ทั้งมาตรการทางการคลังและทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างขนานใหญ่ไปแล้วหลายรอบตามที่ทราบ ๆ กัน     

ภารกิจใหญ่ทั้งสองเรื่องนี้ คงสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ หากขาดความร่วมมือร่วมใจที่แข็งขันในระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอเรื่องการใช้เครื่องมือทางการเงินของ IMF คือ SDRs (หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ ซึ่งเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและมีสภาพเป็นหน่วยบัญชี) คิดเป็นมูลค่ากว่า 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดสรรให้กับรัฐบาลของประเทศที่มีรายได้น้อยให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยังคงสามารถรักษาระดับการลงทุนในเรื่องบริการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมที่จำเป็นให้แก่ประชากรได้ตามปกติ แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา  

ข้อเสนออื่น ๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันบ้างแล้ว ก็คือเรื่องการขอให้ประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายช่วยพิจารณาลดภาระหนี้สินบางส่วนให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังไม่มีกระแสตอบรับที่ดีนักจากบรรดาประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลาย  ซึ่งก็หมายความว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังจำเป็นต้องให้ความร่วมมือมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างจริงจัง แม้ว่าโลกจะมีวัคซีนแล้วก็ตาม.

บทความโดย ศ.ดร.อารยะ  ปรีชาเมตตา, กนิษฐา หลิน