เปรียบเทียบการกระจายวัคซีน ไทย VS ทั่วโลก
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันแรกของการเข้าบริหารงานสหรัฐ
เพราะทราบว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้มากและรวดเร็วที่สุดนั้น อาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติสุข ประธานาธิบดีไบเดนจึงไม่เพียงแค่รักษาคำมั่นสัญญาแต่ทำเกินสัญญาที่ให้ไว้อีกหนึ่งเท่าคือ ได้อำนวยการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 200 ล้านโดส
หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ออกมายืนยันถึงจำนวนตัวเลขผู้ที่ได้รับวัคซีนจนครบโดสแล้วกว่า 96.7 ล้านคน และผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแล้วกว่า 141.8 ล้านคน ซึ่งเกินกว่าประชากรกึ่งหนึ่งของสหรัฐที่ 328 ล้านคนแล้ว
อัตราความเร็วของการกระจายวัคซีนของสหรัฐอยู่ที่ 2.72 ล้านโดสต่อวัน และหากอัตราความเร็วของการกระจายยังอยู่ที่ระดับนี้แล้ว ประชากรกว่า 70% ของสหรัฐน่าจะได้รับวัคซีนภายในวันที่ 11 ก.ค. และประชากรกว่า 90% จะได้รับวัคซีนภายในวันที่ 4 ก.ย. ส่งผลให้สังคมสหรัฐมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ตั้งแต่กลางเดือนก.ค. เป็นต้นไป
ด้วยเหตุผลนี้เองประธานาธิบดีไบเดนจึงได้กล้าออกมาประกาศว่าชีวิตประจำวันของคนอเมริกันใกล้กลับมาปกติสุขอีกครั้ง โดยคนอเมริกันไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกต่อไปหากได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ซึ่งถือเป็นการคืนความสุข คืนรอยยิ้มให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ
ณ ปัจจุบัน นานาประเทศต่างเร่งกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อคืนความปกติสุขให้แก่ชีวิตและฟื้นคืนเศรษฐกิจที่ซบเซา
สหราชอาณาจักรที่มีประชากร 67 ล้านคน ที่จำนวนประชากรใกล้เคียงไทยเรา (69 ล้านคน) ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรไปกว่าครึ่งประเทศแล้วกว่า 33 ล้านเข็ม และได้ทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรจนครบโดสแล้วกว่า 12 ล้านคน อัตราความเร็วเฉลี่ยในการฉีดอยู่ที่ 379,000 เข็มต่อวัน ซึ่งถึงแม้จะไม่มากเท่าสหรัฐ แต่อัตราความเร็วหากวัดต่อจำนวนประชากรแล้วก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก
ด้วยเหตุผลเรื่องของการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึงและด้วยอัตราความเร็วในปัจจุบัน ประกอบกับจำนวนของประชากรที่เคยติดเชื้อและหายดีแล้ว จึงทำให้สังคมอังกฤษได้เข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เรียบร้อยแล้ว ณ วันนี้
ประเทศร่ำรวยอื่นๆ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน กาตาร์ ก็ได้ทำการฉีดวัคซีนเข็มแล้วให้กับประชากรไปแล้วกว่า 50%
ขณะที่ประเทศในยุโรป อาทิ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ก็ทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชากรจนครบโดสแล้วในระดับ 7-8% ของประชากรในประเทศนั้นๆ
หากอยากจะเปรียบเทียบให้ชัดเจน ประเทศที่มีความคล้ายคลึงทั้งเรื่องของทรัพยากรที่จำกัด งบประมาณในการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทียบกับ GDP ที่ไม่มาก ต่างกันตรงที่จำนวนประชากรอย่าง เมียนมาที่มีประชากรประมาณ 54 ล้านคนแล้วนั้น นั้นฉีดไปแล้วกว่า 1.36 ล้านโดส หรือกัมพูชาที่มีประชากร 15 ล้านคนก็ฉีดไปแล้วกว่า 2 ล้านโดส โดยทั้งจำนวนโดสที่ฉีดและสัดส่วนต่อประชากรนั้นพบกว่า สองประเทศนี้ทำได้ดีกว่าไทยเพราะยอดโดสรวมที่เราฉีดไปนั้นเพียง 1.3 ล้านโดสเท่านั้น (ณ วันที่ 27 เม.ย. 64)
หากมองจากตัวเลขสถิติโดยไร้อคติแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในแง่ของความเร็วในการกระจายวัคซีนแก่ประชาชนคนธรรมดา ไทยไม่เพียงแต่ช้ากว่าสหรัฐ อังกฤษ ประเทศในยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งตรงนี้คนไทยเข้าใจได้เพราะเรามีเหตุผล เราเข้าใจโลก
แต่ที่ทำความเข้าใจได้ยากจนน่าที่จะยกมาถกเถียงและช่วยกันหาคำตอบคือ ทำไมเราถึงช้านัก ช้ากว่าเมียนมาและกัมพูชาเสียอีก