5 ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง

5 ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง

บทความที่แล้ว ผู้เขียนได้ย้อนมองถึงคำทำนายในอดีต ในฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอฉายภาพ 5 แนวโน้มเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ดังนี้

1.เศรษฐกิจโลกจะแยกเป็น 2 ขั้วชัดเจนขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น และปัญหาการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีมากขึ้น

ในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DM) โดยเฉพาะ สหรัฐ ตะวันออกกลาง และประเทศในยุโรป ต่างเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทำให้ผู้ที่มีภูมิต้านทานไวรัสมีมากขึ้น และเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ และทำให้เศรษฐกิจของ DM มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้

ขณะที่ในฝั่งประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) แม้จะส่งออก ดีขึ้น แต่อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำ "สงครามวัคซีน" ที่ประเทศ DM แย่งจองวัคซีนก่อน) ทำให้อัตราการระบาดอยู่ในระดับสูงและมีความเสี่ยงที่ไวรัสที่ระบาดใน EM จะกลายพันธุ์ เช่น ในแอฟริกาใต้และอินเดีย และควบคุมยากขึ้น

ระดับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จะทำให้ประชาชนในประเทศ EM ไม่พอใจ นำไปสู่การประท้วงและก่อความไม่สงบ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านั้นได้

 

2.ภาษีจะเริ่มเป็นขาขึ้น

ณ ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐที่จะขึ้นภาษีแล้ว ทั้งเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% (และต้องจ่ายขั้นต่ำ 15% จากที่ไม่เคยเก็บเลย) บุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39.6% ภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital gain tax) จาก 20% เป็น 39.6% และภาษีของนิติบุคคลสหรัฐในการโอนเงินกลับประเทศ (Repatriation tax หรือ GILTI) จาก 10.5% เป็น 21%

จากการคำนวณของ Penn-Wharton พบว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวอาจทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ของ GDP ในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่การคำนวณของหลายสำนักวิจัยพบว่า การขึ้นภาษีต่าง ๆ จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนลดลงประมาณ 4.4% ในปีหน้า (หากทำได้ตามแผนทั้งหมด)

นอกจากจะขึ้นภาษีในประเทศตัวเองแล้ว สหรัฐยังเรียกร้องให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว OECD และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำเป็น 21% ด้วย (หรือที่เรียกว่า Global Minimum Tax: GMT) เพื่อให้รัฐมีรายได้มาเป็นสวัสดิการประชาชนและสร้างสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นสหรัฐอาจยกเลิกข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนที่เคยทำไว้กับหลายประเทศ และทำให้บริษัทต่างชาติในสหรัฐอาจต้องเสียภาษีมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า GMT จะทำให้นิติบุคคลทั่วโลกต้องมีรายจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นถึงกว่า 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

3.นโยบายการเงินเริ่มแตกต่างมากขึ้น

โดยประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เช่น สหรัฐและจีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อาจเริ่มต้องพูดถึงการลดทอนมาตรการกระตุ้น เช่น  QE ในกรณีสหรัฐ และการคุมเข้มสินเชื่อในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น เหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ในกรณีของจีน

นโยบายการเงินในสหรัฐและจีนที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่บางประเทศ เช่น ยุโรปและตลาดเกิดใหม่ เศรษฐกิจยังอ่อนแอกว่าโดยเปรียบเทียบ นโยบายการเงินจึงยังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ความแตกต่างระหว่างนโยบายการเงินระหว่าง 2 กลุ่มประเทศจะทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าจีนและสหรัฐมากขึ้น เป็นส่วนกดดันให้เงินหยวนและดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหรัฐนั้น การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นทำให้การนำเข้าสินค้าน่าจะมีมากขึ้น ทำให้ดอลลาร์ลดทอนการแข็งค่าลงได้ แต่หยวนมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น

ในทางกลับกัน สำหรับประเทศ EM ที่ยังเผชิญความเสี่่ยงการระบาด ทำให้นโยบายการเงินไม่สามารถตึงตัวขึ้นได้ ดอกเบี้ย EM ที่สูงกว่า DM ทำให้ยังมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรของประเทศเหล่านี้ต่อเนื่อง กดดันให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้ไม่อ่อนค่าลงมากนักแม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มแย่ลงก็ตาม

4.การกำกับ Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิตอลจะเข้มงวดขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิตอลที่สร้างขึ้นมาจากฐานของระบบ Blockchain เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย Bitcoin และ Ethereum มีมูลค่าตลาดถึงกว่า 1.1 ล้านล้านและ 3.65 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ เพิ่มขึ้นกว่า 5-8 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ความนิยมที่เข้มข้นขึ้นของ Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิตอลอื่น ๆ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเข้ามาทดแทน (Disrupt) ระบบการเงินแบบปกติมีมากขึ้น ทั้งการเกิดขึ้นของ Defi หรือ Decentralized Finance ที่อาจมาทดแทนระบบธนาคารแบบปกติ และทำให้องค์กรกลางทางการเงินของรัฐหมดความหมาย

แต่การที่ธุรกิจดังกล่าวไร้การกำกับในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจและ/หรือ เครื่องมือดังกล่าวมีสูงมาก ทั้งความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอล และความเสี่ยงของ Exchange หรือตลาดที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์เหล่านั้น

 ผู้เขียนเชื่อว่า ในระยะต่อไป ทางการทั่วโลกจะ "ทวงคืน" ความสำคัญของการเป็นผู้กำกับมากขึ้น ในฝั่งของธนาคารกลาง จะมีการออก "Govcoins" เพื่อมาแข่งและดึงข้อมูลการใช้เงินทั้งหมดกลับมาอยู่ในมือ ขณะที่หน่วยงานกำกับการลงทุนจะคุมเข้ม Exchange ที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น โดยมีไพ่หลักคือใบอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันเข้าลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ โดยหาก Exchange ใดไม่ยอมอยู่ภายใต้การกำกับ ก็จะไม่อนุญาตให้นักลงทุนสถาบันเข้าลงทุน

 

5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) จะเพิ่มมากขึ้น 

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐสามารถผลักดัน วาระภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง เช่นการควบคุมการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่วาระต่อ ๆ ไป จะเป็นวาระที่ทำได้ยากมากขึ้น เช่น มาตรการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะต่อไป 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ และมาตรการสวัสดิการสังคมเม็ดเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะผลักดันได้ยากกว่าเพราะหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ฉะนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ในระยะต่อไป รัฐบาลไบเดนน่าจะใช้กลยุทธ์อัดจีน โดยกล่าวหารัฐบาลจีนแรงขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันนโยบายที่เป็นวาระของพรรคมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อการที่จีนจะโต้กลับมีมากขึ้น รวมถึงอาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการทหารในหลายภูมิภาค เช่น ทะเลจีนใต้ และน่านน้ำไต้หวัน เป็นต้น

 ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นโยบาย การกำกับ Crypto และภูมิรัฐศาสตร์เป็นความเสี่ยงมากขึ้นในครึ่งปีหลัง นักธุรกิจและนักลงทุน โปรดระวัง.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่