ฎีกาแนวใหม่กับการเช่าซื้อรถยนต์

ฎีกาแนวใหม่กับการเช่าซื้อรถยนต์

คนไทยส่วนใหญ่ มักเลือกที่จะซื้อรถยนต์กันแบบผ่อนชำระเป็นงวดๆ ภายใน 5-6 ปีผ่านทางสถาบันการเงิน ทำให้ผู้ซื้อได้รถยนต์มาใช้ในทันที

รูปแบบการซื้อขายดังกล่าวนี้ แม้ผู้ซื้อได้รถยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อประกอบธุรกิจในทันที แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นและไม่ต้องจ่ายราคารถยนต์เป็นก้อนใหญ่ในคราวเดียว แต่จะใช้วิธีทยอยจ่ายตามที่ตกลงกันไว้

การซื้อรถยนต์โดยวิธีนี้ ผู้ซื้อต้องติดต่อกับผู้ขายก่อน แล้วผู้ซื้อค่อยไปติดต่อทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับสถาบันการเงินที่กฎหมายรับรอง จากนั้นทางผู้ขายจะโอนทรัพย์สินให้เป็นของสถาบันการเงินโดยระบุชื่อผู้ครอบครองไว้ในสมุดทะเบียนประจำรถ รถยนต์นั้นจะยังไม่ได้เป็นของผู้ซื้อเพียงแต่ผู้ซื้อเช่าใช้งานจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อได้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยครบเมื่อใดสถาบันการเงินก็จะโอนทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของต่อไป

ปัจจุบันการเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยถูกควบคุมโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา พ.ศ. 2522 และมีการให้คำนิยามไว้โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ข้อที่ 3 ไว้ว่า “ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” หมายความว่า การประกอบกิจการค้าโดยเจ้าของนำเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตนออกให้บุคคลธรรมดาเช่า และให้คำมั่นว่าจะขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หรือว่าจะให้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

วัตถุประสงค์หลักของประกาศดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีการแก้ไขเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกินกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่ประกาศดังกล่าวกำหนดข้อห้ามไว้ การกำหนดให้แสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเช่าซื้อ อาทิ เงินต้น ดอกเบี้ย ค่างวดเช่าซื้อให้ชัดเจน เป็นต้น

มีปัญหาทางกฎหมายที่น่าสนใจในกรณีที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์ถูกพิพากษาให้คืนรถที่เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน แล้วผู้ให้เช่าซื้อจะคิดดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนได้หรือไม่? กรณีเช่นนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยวางแนวไว้เดิมว่าการที่ศาลตัดสินให้ผู้เช่าซื้อคืนรถยนต์แก่ผู้ให้เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นการกำหนดให้ผู้เช่าซื้อทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้หลายอย่างอันจะพึงเลือกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198

ดังนั้น หนี้ตามคำพิพากษาที่ผู้เช่าซื้อจะต้องกระทำก่อนจึงเป็นหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน อันแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อและมีสิทธิติดตามเอาคืนเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ อีกทั้งผู้ให้เช่าซื้อสามารถบังคับให้ผู้เช่าซื้อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ กรณีไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดได้โดยแน่นอน ดังนั้นจึงไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนของราคารถใช้แทนให้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10346/2559)

แต่ในปัจจุบัน ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ได้วางแนวคำวินิจฉัยใหม่ว่าสามารถคิดดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนได้ ซึ่งถือว่าฎีกานี้น่าจะกลับแนวคำพิพากษาเดิม การที่ศาลวินิจฉัยให้ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากผู้เช่าซื้อไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ให้เช่าซื้อเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225

แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคา (อันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อ) เกิดขึ้นเมื่อใด ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ให้เช่าซื้อ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563)

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าการเช่าซื้อจะทำให้ผู้ซื้อได้รถยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อประกอบธุรกิจในทันทีโดยที่ไม่ต้องจ่ายราคารถยนต์เป็นก้อนใหญ่ในคราวเดียวก็ตาม แต่หากผู้เช่าซื้อผิดสัญญาก็อาจถูกเรียกร้องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้รับผิด รวมถึงดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อได้ ดังนี้ ก่อนเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ผู้เช่าซื้อจึงควรศึกษาผลดีผลเสียและข้อกฎหมายก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง.

บทความโดย ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์