กลายพันธุ์เพื่ออยู่รอด ถอดบทเรียนจาก 'ไวรัส' ถึงผู้นำยุคใหม่

กลายพันธุ์เพื่ออยู่รอด ถอดบทเรียนจาก 'ไวรัส' ถึงผู้นำยุคใหม่

เป็นผู้นำองค์กรยามวิกฤติ..จะทรานส์ฟอร์มอย่างไร? ทำอย่างไรจึงจะสามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายให้คนในองค์กรเข้าใจและเห็นภาพอย่างชัดเจน?

โดย พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group 
[email protected]

  

ผู้อ่านคอลัมน์ Tops to Top อาจจะคิดเหมือนกับดิฉันว่า ขณะนี้พวกเราเป็นหนี้บุญคุณ คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายมากมายเหลือเกิน เพราะท่านเหล่านี้ถือเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ช่วยเรารบในศึกสงครามเชื้อโรคที่ยืดเยื้อครั้งนี้ โดยที่ต้องเหน็ดเหนื่อย เสียสละ และเสี่ยงอันตรายกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่โลกเราไม่เคยเจอมาก่อน

ดิฉันจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อเร็วๆ นี้ “แพคริม ได้มีโอกาสจัดงานสัมมนาสดออนไลน์ ให้กับผู้นำและผู้บริหารในแวดวงสาธารณสุขและการแพทย์ ในหัวข้อ “Leading Culture Transformation for Healthcare” โดยดิฉัน และคุณวิกรม คงสกุลยานนท์ Chief Solution Officer “แพคริม ดิจิทัล รวมทั้งได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  และนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดดีๆ แก่ผู้ร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยคุณหมอและผู้บริหารจากองค์กรด้านสาธารณสุขและการแพทย์จากทั่วประเทศกว่า 100 ท่าน

และเพื่อเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เป็นนักรบด่านหน้าสู้กับเชื้อโรคให้พวกเราทุกคน แพคริมได้ถือโอกาสนี้ในการมอบทุนการฝึกอบรมจำนวน 100 ทุน ให้แก่คุณหมอและพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

ในขณะที่คุณหมอทั้งหลายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ในมุมมองด้านองค์กรนั้น สถานพยาบาลทั้งหลายก็ล้วนกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่แตกต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่จะต้องปรับตัวให้รับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่ง ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยหากองค์กรใดไม่รู้จักปรับตัว สรรหาวัคซีน ยารัษา หรือสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง  ก็จะอาจจะต้องเจ็บป่วย หรือล้มหายตายจากไปในที่สุด

ทั้งนี้เราควรต้องแยกแยะระหว่างปัจจัยที่เราควบคุมได้ กับปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในสิ่งที่เราสามารถควบคุมและมีอิทธิพลได้  ซึ่งคือความท้าทายจากภายในองค์กรของเราเอง โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรด้านการสาธารณสุขและการแพทย์นั้น “แพคริม ได้รวบรวมความท้าทายหลักไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1. ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ 

2. การดูแลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากร ผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษา และประชาชนโดยทั่วไป

3.ความชัดเจนและรวดเร็วของการสื่อสารทั้งระหว่างภายในและกับภายนอกองค์กร 

4. ระดับของความไว้วางใจและการร่วมมือกัน (Trust & Collaboration) ภายในองค์กร และกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ 

5. ความรวดเร็ว ทันกาลของการตัดสินใจในเรื่องยากๆ หรือมีความสำคัญ ความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและความเร็วในการลงมือสู่การปฏิบัติ (Alignment & Execution)

ตัวอย่างและข้อคิดจากความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ ดิฉันจะขอยกยอดไว้ในตอนต่อไป ที่จะมาเล่าถึงบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของผู้นำโรงพยาบาลทั้งสองท่าน

  

  • ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม...เรื่องเร่งด่วนจริงหรือ?

จากความท้าทายที่กล่าวข้างต้น เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตราเร่งของการทรานส์ฟอร์มในท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้  ซึ่งในทัศนะของดิฉันนั้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยได้ทำบทบาทที่สำคัญยิ่งในการช่วยเหลือและพิทักษ์ชีวิตของคนไทยทุกคน รวมทั้งได้สร้างชื่อเสียงมากมายในต่างประเทศในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสภาวะแวดล้อมต่างๆ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถแปลงวิกฤตในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยให้ขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง (Move from Good to Great) และสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะมีความร้ายแรงกว่าในวันนี้ได้อย่างดีเยี่ยมในอนาคต

   

  • แล้วจะทรานส์ฟอร์มจะต้องทำอย่างไร?

ก่อนอื่นผู้นำจะต้องมีความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่องค์กรกำลังเผชิญ หรือจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต  เราต้องการจะนำพาองค์กรทรานส์ฟอร์มจากอะไร ไปสู่อะไร หรือจากจุดนี้ไปสู่จุดไหน เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในวันนี้และในอนาคต  แล้วจึงทำการออกแบบวัฒนธรรมใหม่ที่จะช่วยสนับสนุนการเดินทางไปสู่เป้าหมายหรือทิศทางใหม่ของธุรกิจ

เนื่องจากวัฒนธรรมมาจากพฤติกรรม ค่านิยม หรือมายด์เซตของคนในองค์กร  ที่ทำให้เกิดวิถีปฏิบัติที่ทำให้องค์กรมีความโดดเด่น แตกต่าง มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีความอึดทน สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทาย สามารถเปิดพรมแดนและโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรหรือธุรกิจได้  ดังนั้นความท้าทายสูงสุดขององค์กร หรือการทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในองค์กร

ซึ่งผู้นำที่จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีจะต้องมีความเข้าใจกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 4 ด้าน (The 4 Human Capacities) ซึ่งประกอบด้วย Body, Mind, Heart และ Spirit

ผู้นำจะต้องเข้าใจว่าการจะนำคน เราไม่สามารถนำได้แต่เพียงร่างกายของเขา แต่หากเราได้ใจ ได้สติปัญญา และจิตวิญญาณของเขา เราก็จะสามารถได้สิ่งที่ดีที่สุดที่เขามี  และการจะได้ใจคนเราจะต้องแลกมาด้วยใจเท่านั้น

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะสามารถ “Inspire” ให้คนของเรามีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในตัวเรา และยินดีร่วมมือ ร่วมใจทำงานและภารกิจต่างๆ ขององค์กรให้ประสบความสำเร็จ?

คำตอบของเรื่องนี้คือการเสริมสร้างหรือพัฒนาความน่าเชื่อถือในความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากคนของเราให้เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมและความคาดหวังใหม่

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะสามารถอธิบายและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรให้คนของเราเข้าใจและเห็นภาพอย่างชัดเจน เข้าใจว่าองค์กรกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร เพราะอะไรเราถึงต้องไปสู้ที่นั่น ที่นี่ ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร เพราะอะไร เพื่ออะไร?

คำตอบอยู่ที่การสื่อสารของผู้นำที่ต้องพยามยามพัฒนาตัวเองให้เป็น “a Great Communicator”.

นอกจากนี้ผู้นำจะต้องแสดงให้เห็นว่าเราเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่า มีความห่วงใย และชื่นชมในสิ่งที่พนักงานหรือคนของเราได้มีส่วนช่วยในความสำเร็จของทีมงาน และองค์กรให้ก้าวหน้าไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตนี้ที่ทุกคนย่อมต้องการกำลังใจและแรงสนับสนุนมากเป็นพิเศษ

ในเดือนหน้าดิฉันจะมาเล่าถึงบทเรียนและข้อคิดที่ได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคุณหมอผู้นำโรงพยาบาลทั้งสองท่าน รวมทั้งโอกาสจากวิกฤตในครั้งนี้

___________________________ 

เกี่ยวกับผู้เขียน :

พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group ตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของ FranklinCovey และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก เรามุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ (Trusted Partner) ในการช่วยขับเคลื่อนอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยโซลูชันและหลักสูตรหลากหลาย เช่น Leadership & Talent Development, Culture Transformation, Translate Strategies to Execution, Innovation, 7 Habits, ฯลฯ ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อดิฉันได้ที่ [email protected]