มุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ HPO
สินค้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่ขายได้ทุกวันนี้ ล้วนแต่มี 'ความแปลกใหม่' หรือ 'ลูกเล่นใหม่ๆ' ที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้
สิ่งของเครื่องใช้ที่อาศัยนวัตกรรมเป็นตัวสร้างความแตกต่าง อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือรุ่น 5G หม้อทอดไร้น้ำมัน เต้าเสียบปลั๊กไฟแบบคอนโด รวมตลอดถึง น้ำยาซักผ้า โฟมล้างมือ และสบู่กลิ่นต่างๆ เป็นต้น
การเพิ่มยอดขาย โดยอาศัย “ความแปลกใหม่” หรือ “นวัตกรรม” เป็นตัวสร้าง “ความแตกต่าง” ในตัวสินค้าหรือการให้บริการต่างๆ จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที
ทุกวันนี้ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” จึงเป็น “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” (Key Success Factors : KSF) ขององค์กรชั้นนำ โดยเฉพาะภาคการอุตสาหกรรมการผลิต แต่เรื่องที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ “การทำลายล้างแบบฉับพลันของเทคโนโลยี” (Technology Disruption) ซึ่งเห็นได้ทั่วไป ดังที่ “นักแสดงชื่อดัง” “เฉินหลง” ได้พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี “โทรศัพท์มือถือ” อย่างน่าฟังว่า
“สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัจจุบันอะไรที่อันตรายที่สุด บางท่านบอกปรมาณู นิวเคลียร์ส ไม่ใช่ครับ อันตรายที่สุดคือโทรศัพท์มือถือครับ มือถือทำลายใคร ทำลายอะไรบ้าง คำตอบคือ มือถือได้ทำลายไปแล้ว เช่น ทำลายทีวี ทำลายคอมพิวเตอร์ ทำลายนาฬิกาข้อมือ ทำลายกล้องถ่ายรูป ทำลายกระจกเงา ทำลายหนังสือพิมพ์ ทำลายเครื่องเล่นเกมส์ ทำลายโทรศัพท์ตั้งโต๊ะ ทำลายเครื่องบันทึกเสียง ทำลายไฟฉาย ทำลายกระเป๋าสตางค์ ทำลายปฏิทินตั้งโต๊ะปฏิทินแขวน ทำลายบัตรประชาชน
มีคนถามต่อไปยังจะมีทำลายอะไรอีก ต่อไปก็ทำลายสายตา ทำลายต้นคอ ทำลายสุขภาพของท่าน ทำลายคู่สมรส ทำลายครอบครัว วุ่นวายเละเทะ โต้เถียงทะเลาะกันทั้งวัน ทำลายแม้กระทั่งสถาบันครอบครัว ยังจะทำลายลูกหลานด้วย ทั้งวันไม่สนใจลูกน้อยสนใจแต่เล่นมือถือ”
แม้ว่าเรื่องของ Technology Disruption จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้นำ (โดยเฉพาะเรื่องของความทันสมัยของเทคโนโลยี) แต่เราก็ปฎิเสธความสำคัญของเทคโนโลยีไม่ได้ (ในส่วนของการเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กร)
ทุกวันนี้ ปัจจัยที่เป็นตัวเชื่อมต่อ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” ให้เข้าถึงกันก็คือ “คน” เพราะคนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลผลิตจากการใช้เทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ของคน
การเชื่อมโยงทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และ คนอย่างบูรณาการ จึงปรากฏอยู่ในแนวความคิดสำคัญของ “องค์กรที่มีสมรรถนะสูง” หรือ “องค์กรแห่งความเป็นเลิศ” (High Performance Organization : HPO)
การพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง (HPO) จึงเป็นวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่องค์กรชั้นนำทั่วโลกต้องการที่จะเป็นให้ได้ โดยใช้องค์ประกอบในการขับเคลื่อนที่สำคัญ 2 ประการ คือ การพัฒนาในเรื่องของคน และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป
ในการพัฒนาบุคลากรนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำมักกำหนดนโยบายที่มีเป้าหมายของ “การกระชับขนาดขององค์กร” ให้มีความคล่องตัวและคล่องแคล่วมากที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ
การกระชับขนาดขององค์กร ไม่ใช่การปลดลดคนหรือการเลิกจ้างบุคลากร แต่เป็นการตัดลดขั้นตอนการทำงานบางอย่างที่ต้องใช้คน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทน ส่วนคนที่เหลือก็จะถูกจัดสรรไปลงในจุดที่มีความจำเป็น หรือ ปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต้องทำออกจากกระบวนการทำงาน
เรื่องของการกระชับขนาดองค์กรนี้ องค์กรมักจะดำเนินการโดยให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด ด้วยการระดมสมองพนักงานทุกคนในทุกระดับเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ “วัฒนธรรมขององค์กร” ขึ้นมาใหม่ โดยปรับทัศนคติ 5 ประการ ที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติ
ทัศนคติทั้ง 5 ประการ ประกอบด้วย (1) ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ (2) ยึดผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก (3) ลูกค้าต้องเป็นใหญ่ (4) เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม และ (5) มีจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีม
การปรับทัศนคติของพนักงาน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ต่อไป อาทิ การจัดทำงบประมาณ การจัดทำตัวชี้วัด KPI การทำ Balance Scorecard การทำ OKR เป็นต้น
ผู้นำจึงต้องเป็น “ตัวอย่าง” โดยปลุกเร้าให้องค์กรเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และกล้าที่จะตัดสินใจเลือกแนวความคิดและวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับองค์กรตนเองอย่างทันการณ์ ด้วยการพัฒนาคนและทีมงานอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งสู่องค์กร HPO ครับผม !