อายุยืนเพราะสุขภาพช่องปาก
สุขภาพของช่องปาก โยงใยอย่างสำคัญกับสุขภาพของร่างกายโดยทั่วไป การสูญเสียฟันกับอายุขัยเฉลี่ยมีความสัมพันธ์กันอย่างสูง
ในหลายการศึกษามีการพบว่าผู้ที่มีจำนวนฟัน 20 ซี่หรือมากกว่าเมื่อมีอายุ 70 ปี มีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่มีจำนวนฟันน้อยกว่า 20 ซี่ และงานศึกษาของ The Oral Health Foundation ระบุว่าผู้ที่มีฟันครบชุด (32 ซี่ คือ ฟันหน้า 8 เขี้ยว 4 ฟันระหว่างฟันหน้ากับกราม 8 และกราม 12 ซี่) เมื่อมีอายุ 74 ปี มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอายุยืนถึง 100 ปี
การมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีอาจนำไปสู่โรคสำคัญ ๆ หลายโรคดังต่อไปนี้
(1) โรคหัวใจ เมื่อดูแลช่องปากไม่ดี แบคทีเรียจากฟันผุหรือเหงือกอักเสบ อาจหลุดเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดการสะสมของแผ่นเคลือบ (plaque-แพลค) ที่จับตัวอยู่บนผนังหลอดเลือดหัวใจ เมื่อสะสมหนาเข้า หลอดเลือดหัวใจก็แข็งตัว เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนอาจอุดตันเกิดหัวใจวาย นอกจากนี้ทำให้ความดันโลหิตสูงเพราะหลอดเลือดไม่อ่อนนิ่มจนอาจนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดสมองได้ ที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือแบคทีเรียอาจเข้าไปสร้างการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจได้
(2) การติดเชื้อทางเดินหายใจ แบคทีเรียจากการอักเสบในช่องปากอาจหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและเข้าไปที่ปอดจนทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ หรือนิวมอเนียได้
(3) โรคเบาหวาน คนเป็นเบาหวานมักติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว เมื่อมีการอักเสบก็ทำให้การควบคุมโรคเบาหวานยากขึ้นเพราะการอักเสบทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในทางกลับกันสำหรับคนปกติเมื่อมีการอักเสบและระดับน้ำตาลสูงขึ้นก็ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น
(4) โรคมะเร็งในช่องปาก การสูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ กินหมาก และดื่มแอลกอฮอร์เกินขนาดทำให้โอกาสในการเป็นมะเร็งในช่องปากและลำคอสูงขึ้น มีงานวิจัยพบว่ามะเร็งอื่น ๆ เช่น ไต ตับอ่อน และเลือด อาจโยงใยกับการอักเสบในช่องปากเช่นกัน
(5) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบมีทางโน้มมากกว่าคนอื่นถึงสี่เท่าที่จะเป็นโรคนี้ซึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อ หุ้มข้อ กล่าวคือแบคทีเรียจากการอักเสบซ้ำเติมให้เกิดการอักเสบรุนแรงขึ้นทั่วร่างกายซึ่งทำให้โอกาสในการพัฒนาขึ้นเป็นโรคดังกล่าวสูงขึ้น
(6) ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือกลุ่มอาการของการสูญเสียความสามารถในการคิด การจำ ตลอดจนความสามารถในการดำรงชีวิต โรค Alzheimer’s เป็นสาเหตุใหญ่ของกลุ่มอาการนี้ แบคทีเรียจากการอักเสบในช่องปากสามารถฆ่าเซลล์สมอง เข้าไปในกระแสเลือด และกระจายไปทำลายศูนย์ประสาทในสมองได้
โรคเหล่านี้มีที่มาจากการละเลยดูแลสุขภาพช่องปาก สิ่งที่ควรทำได้แก่ (1) แปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ๆ ละประมาณ 2 นาที (2) ใช้ยาสีฟันที่มี fluoride (3) หยุดการสูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ ดื่มแอลกอฮอร์เกินขนาด (4) ควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค (5) บริโภคอาหารที่มีผักผลไม้และมีความสมดุลในสารอาหาร(6) ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง
หลังจากกินและดื่มสิ่งที่มีน้ำตาล แบคทีเรียในช่องปากจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดและแพลค (plaque) หรือสารเหนียวติดฟันจะก่อตัวขึ้น กรดในแพลคจะกัดกร่อนฟันเป็นรู แบคทีเรียเข้าไปเติบโต หากเกิดการอักเสบมากและลามไปถึงเหงือกจนเป็นหนอง ฟันก็อาจหลุดได้ ดังนั้นการแปรงฟันเพื่อกำจัดแพลคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนฟันกับการมีอายุยืนยาวนั้น มีการพบว่าผู้ที่สูญเสียฟันไป 5 ซี่ หรือกว่านั้นก่อนถึงอายุ 65 ปี มีโอกาสสูงกว่าคนอื่นที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวานและโรคกระดูกผุ ซึ่งทั้งหมดมีผลต่ออายุขัยเฉลี่ย
การสูญเสียฟันจำนวนมากในผู้สูงอายุทำให้คุณภาพชีวิตลดลง กินอาหารไม่อร่อย เคี้ยวอาหารไม่ถนัดซึ่งทำให้สารอาหารเข้าสู่ร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังมีผลลบในด้านจิตวิทยาอีกด้วย วงการแพทย์เชื่อว่าการเคี้ยวอาหารคือการกระตุ้นเซลล์สมองอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างจากช่องปาก การมีฟันสำหรับเคี้ยวอาหารจึงมีความสำคัญมากกว่าเพียงทำให้อาหารย่อยง่ายเท่านั้น
ในปี 2000 Japan Dental Association ได้จัดตั้งโครงการ 8020 Promotion Foundation รณรงค์ให้ผู้สูงอายุมีเป้าหมายของการรักษาจำนวนฟันไว้อย่างน้อย 20 ซี่ เมื่อมีอายุ 80 ปี โครงการนี้ปลุกให้ผู้สูงอายุและคนทุกวัยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาจำนวนฟันซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง การยอมรับความสัมพันธ์ของสุขภาพช่องปากกับสุขภาพโดยทั่วไปทำให้เกิดการทบทวนความคิดในการให้บริการสุขภาพของภาครัฐที่รวมบริการช่องปากด้วย
หลังจากอ่านบทความนี้แล้วอย่าลืมส่องกระจกนับจำนวนฟันนะครับ ไม่มีอะไรที่ทำให้บุคคลหนึ่งดูแก่และหมดสภาพได้เท่ากับการมีฟันหลอและเหลือฟันน้อยซี่ครับ.