ล็อกดาวน์ ฉีดวัคซีนและเยียวยาเศรษฐกิจ
สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยได้เข้าสู่การระบาดระลอก 3 ซึ่งเป็นระลอกใหญ่ที่สุดมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร /ณฐนภ ศรัทธาธรรม
ในารระบาดระลอก 3 เราพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่กว่าสามถึงสี่พันรายต่อวันจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมต่อเดือนสูงขึ้นเป็นหลักแสน สวนทางกับจำนวนการฉีดวัคซีนที่เริ่มเแผ่วลง พร้อมกับความเหนื่อยล้าสะสมของบุคลากรทางการแพทย์ การขาดแคลนห้องผู้ป่วย ICU และเครื่องช่วยหายใจ จนใกล้ถึงขีดจำกัดสูงสุดของระบบสาธารณสุข
หลังการประกาศเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วันไปไม่นาน พร้อมกับการผ่อนคลายข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากและจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักที่ใกล้ถึงขีดจำกัดสูงสุด
ท่ามกลางความสับสนต่างๆ สุดท้ายการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ได้เกิดขึ้น พร้อมกับคำถามใหม่ว่าต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เราจะเปิดประเทศได้จริงตามกำหนดหรือไม่ เมื่อไรจึงจะฉีดวัคซีนจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ และรัฐบาลจะช่วยเยียวยาอะไรให้ประชาชนในระหว่างล็อกดาวน์
คำถามเหล่านี้อาจจะตอบได้ดีขึ้น เมื่อเราถอยออกมา แล้วมองไปยังประสบการณ์ของต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้ อังกฤษเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการดำเนินมาตรการสำคัญไปพร้อมกันอย่างมีแผนที่ชัดเจน ทั้งการบริหารจัดการการล็อกดาวน์ การฉีดวัคซีนที่ก้าวหน้าไปมาก และการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่จริงจัง พร้อมกับแผนในการสร้างประเทศใหม่หลังโควิดจบลง
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อังกฤษได้ประกาศล็อกดาวน์รอบที่ 3 มีการใช้มาตรการความเข้มงวดระดับสูงสุด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้นและคาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไประบบสาธารณสุขของอังกฤษจะล่มสลายอย่างแน่นอน ดังนั้น เป้าหมายหลักที่ทำเป็นลำดับแรกคือต้องลดความชันกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Flatten Curve) ซึ่งสะท้อนถึงว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนมาเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่ารัฐบาลอังกฤษจะละเลยมิติทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลอังกฤษนั้นได้ทุ่มเงินเพิ่มกว่า 4.6 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจ การท่องเที่ยว และสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดบริการตามคำสั่งมาตรการล็อกดาวน์ในรอบนี้
แต่ละธุรกิจจะได้รับเงินเยียวยาชดเชยมากที่สุดถึง 9,000 ปอนด์ หรือเกือบ 4 แสนบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายค่าชดเชยทั้งต่อแรงงานและธุรกิจรายย่อยเพื่ออุ้มผู้ประกอบการและแรงงานให้อยู่รอด
เพราะฉะนั้น การล็อกดาวน์จะต้องทำควบคู่กับการเยียวยาอย่างจริงจัง เพราะหากต้องการให้ประชาชนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็ต้องมีตาข่ายรองรับ ไม่ให้ประชาชนอดตายและยากลำบากจนเกินไป
อังกฤษถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีแผนยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้เป็นอย่างดีตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรก โดยรัฐบาลได้ออกแผน Our Plan to Rebuild: The UK Government’s COVID-19 recovery strategy ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปอ่านได้โดยง่ายในเว็บไซต์ Gov.uk
Gov.uk เป็นเว็บไซต์ภาครัฐหลักที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารและบริการภาครัฐทั้งหมดของประเทศ ในแผนมีการวางไว้แล้วสำหรับการระบาดระลอกต่างๆ ทำให้เห็นทิศทางระยะยาวที่จะรับมือ ถึงแม้ว่าจะไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด 100% แต่ก็สามารถคาดการณ์และวางแผนได้ว่าจะเดินไปในทิศทางใด ไม่สะเปะสะปะหลงทิศหลงทางหรือเกิดการสื่อสารสับสนไม่ตรงกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ
แม้กระทั่งการคลายมาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 ก็ได้ออกโรดแมป การเปิดเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือแผนที่ว่ายังมีการอัพเดทปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป บางขั้นตอนอาจล่าช้ากว่าแผนเดิม หรือมีติดขัดบ้าง แต่ก็อยู่ในเส้นทางที่คาดเดาได้ ไม่ใช่เดินเกมอย่างเคว้งคว้างไร้จุดหมายหรือรู้กันเฉพาะแต่คนในภาครัฐแต่ไม่เปิดเผยต่อประชาชน
นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังเป็นตัวอย่างที่แสดงการเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่ชัดเจน โดยกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการคลายล็อกดาวน์ระยะสุดท้ายในอังกฤษออกไปอีก 4 สัปดาห์จากเดิม 21 มิถุนายน เป็น 19 กรกฎาคม
เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ติดได้ง่ายกว่าและเพื่อให้รัฐบาลมีเวลาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันร้อยละ 80 ของประชากรผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และร้อยละ 56 ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม
ดังนั้น เมื่อมีแผนที่ชัดเจนและรอบด้านทำให้การล็อกดาวน์ตามมาตรการของรัฐบาลอังกฤษนั้นเจ็บน้อยและไม่มีใครอดตาย เพราะสามารถบริหารจัดการการล็อกดาวน์เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ไปพร้อมกับการเยียวยาทางเศรษฐกิจให้ประชาชน และเร่งฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน
โควิดยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน กว่าทั้งโลกจะฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันได้ก็อาจจะถึงปลายปีหน้า อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการกลายพันธุ์ของเชื้อสายพันธุ์ใหม่
ดังนั้น นอกจากการล็อกดาวน์รอบนี้แล้ว ประเทศไทยยังอาจเผชิญกับการระบาดระลอก 4 และอาจมีการล็อกดาวน์อีกในอนาคต ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่การบริหารจัดการสาธารณสุขและเศรษฐกิจให้กับประชาชนจะต้องทำพร้อมกันอย่างจริงจังบนแผนกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างโปร่งใสและชัดเจน.