Global Minimum Tax ปรับภูมิทัศน์การจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล

Global Minimum Tax ปรับภูมิทัศน์การจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล

เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลจากบริษัทข้ามชาติ ที่ทำได้ยากในปัจจุบัน OECD จึงได้เสนอแนวทางใหม่ ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบ

OECD เสนอแนวทางใหม่ใน การป้องกันการโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเพิ่งได้รับความเห็นชอบในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา และบางประเด็นยังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้เขียนจึงขอเล่าหลักการเบื้องต้นบางส่วน ดังนี้

         ปัญหาการจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล

        เนื่องจากบริษัทข้ามชาติสามารถสร้างรายได้จากธุรกรรมออนไลน์โดยไม่ต้องมี Physical presence ในประเทศที่รับบริการ และมักวางแผนภาษีเพื่อเลือกจดทะเบียนจัดตั้งหรือมีสำนักงานสาขาในประเทศที่มีภาระภาษีต่ำ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว OECD จึงเสนอแนวทางใหม่สองประการ คือ 1) Pillar 1 : ให้ประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้ (ประเทศที่ลูกค้าอยู่) มีสิทธิในการจัดเก็บภาษีตามหลัก การแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษี” (Allocating Taxing Right)  2) Pillar 2 : ให้มี การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ” (Global Minimum Tax : GMT) 

        ข้อเสนอ Pillar 1 : “การแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษี

        กล่าวคือ ให้ประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้ หรือ ประเทศที่ลูกค้าอยู่สามารถจัดเก็บภาษีจากยอดรายได้ที่เกิดขึ้นได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่า จากเดิมทีที่ไทยอาจไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากการให้บริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการดิจิทัลในต่างประเทศได้เลย เนื่องจากบริการส่งตรงมายังสมาร์ทโฟนของลูกค้าในไทย ดังนั้น ข้อเสนอจึงให้ประเทศที่ลูกค้าอยู่ (ไทย) สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามสัดส่วนที่กำหนดหากเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น ประการแรก เป็นบริษัทข้ามชาติ (MNEs) ที่มีการประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (Automated digital services) เช่น บริการโซเชียลมีเดีย หรือเสิร์ชเอนจิน 

ประการต่อมา หากผลประกอบการของบริษัทดังกล่าว เข้าองค์ประกอบที่กำหนด คือ 1) มีรายได้รวม (ทั่วโลก) มากกว่า 20,000 ล้านยูโร และมี Profit Margin มากกว่า 10%  2) มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศแหล่งเงินได้ (ประเทศที่ลูกค้าอยู่) อย่างน้อย 1 ล้านยูโร

           อย่างไรก็ดี การพิจารณาในเรื่องรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ที่ถูกกำหนดไว้ 1 ล้านยูโรนั้น ในทางปฏิบัติจะมีการพิจารณาจาก GDP ของประเทศแหล่งเงินได้ประกอบด้วย ซึ่งหากประเทศแหล่งเงินได้มี GDP ในอัตราที่ต่ำกว่าที่กำหนด เกณฑ์ในเรื่องยอดรายได้ในข้อ 2) ก็จะถูกกำหนดให้ต่ำลงด้วย นอกจากนี้ อัตราการปันส่วนกำไรในการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศแหล่งเงินได้ว่าจะอยู่ในสัดส่วนเท่าไรนั้น เป็นประเด็นที่จะมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

        สรุปสั้นๆ ว่า หลักการในเรื่องนี้ คือ การแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีจากกำไรส่วนเกินของบริษัทข้ามชาติไปยังประเทศที่ลูกค้าอยู่ซึ่งเป็นประเทศที่สร้างรายได้ที่แท้จริง ซึ่งผลดี คือ เป็น
การเพิ่มอำนาจการจัดเก็บภาษีให้กับ ประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้ (เช่น ไทย)

         ข้อเสนอ Pillar 2 : การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ(GMT)

        GMT คือ การ Top-up Tax หรือ จัดเก็บภาษีเพิ่มให้อยู่ในอัตราขั้นต่ำที่ 15% ในกรณีที่มีการจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจให้บริษัทในเครือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 15% (Effective Tax Rate) ก็จะถูกจัดเก็บเพิ่มให้อยู่ในอัตรา 15% หรือพูดง่าย ๆ ว่า ต่อไปนี้ การตั้งบริษัทลูกในประเทศที่มีภาระภาษีต่ำเพื่อประโยชน์ในทางภาษีทำได้ยากขึ้น เพราะอยู่ที่ไหนในโลกก็มีอัตราขั้นต่ำเดียวกัน ดังนั้น นี่คือการสร้าง Global rule หรือมาตรฐานขั้นต่ำสากลทางภาษีให้กับทุกประเทศ ซึ่งเดิมที เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในระบบภาษีระหว่างประเทศ เนื่องจากแต่ละรัฐย่อมมีอธิปไตยและมีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน

          สมมติว่า กลุ่มบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศ A อัตราภาษีจัดเก็บที่ 30% บริษัทลูกในประเทศ B อัตราภาษีจัดเก็บที่ 20% และบริษัทลูกในประเทศ C อัตราภาษีจัดเก็บที่ 5% ต่อมา มีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้า/บริการในประเทศ C ผลคือบริษัทลูกใน C จ่ายภาษีเพียงแค่ 5% ซึ่งเป็นการโอนกำไรไว้ที่ประเทศ C


          ดังนั้น GMT จึงเข้ามาแก้ปัญหาโดยการสร้างเงื่อนไขการ Top-up ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
         วิธีการ
Income Inclusion Rule หากบริษัทลูกเสียภาษีในอัตรา 5% ตามตัวอย่างข้างต้น ให้ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่จัดเก็บภาษีเพิ่ม หรือ top-up อัตราภาษีขึ้นไปอย่างน้อยอีก 10% ให้ถึงอัตราจ่ายจริงขั้นต่ำ 15%

         วิธีที่การ Undertaxed Payment Rule ใช้กับกรณีที่มีการทำ Tax planning เพื่อให้บริษัทแม่ตั้งอยู่ใน Tax Haven ดังนั้น ภาระภาษีของบริษัทแม่ย่อมต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ต่อมาบริษัทลูกในประเทศ B จ่ายเงินให้บริษัทลูกในประเทศ C ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและชำระภาษีเพียงแค่ 2% ดังนี้ ให้ประเทศ B มีสิทธิเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 13% เพื่อให้อัตราภาษีจ่ายจริงขั้นต่ำอยู่ที่ 15%

ผลของ GMT

เนื่องจาก GMT เป็นข้อเสนอที่เชิญชวนให้ประเทศทั่วโลกดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติ แต่ละประเทศที่เข้าร่วมจึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสหรัฐ ซึ่งหลักการ GMT มีความสอดคล้องกับทั้งนโยบายการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ตาม Biden’s New Tax Plan ของประธานาธิบดีไบเดน และกฎหมายภาษีเรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมบริษัทต่างชาติ หรือ “CFC Rule” (Controlled Foreign Company Rule) ดังนั้น การผลักดันในเรื่องดังกล่าวของสหรัฐฯ จึงมีนัยสำคัญ เพราะหากมีการใช้หลักการดังกล่าวในอนาคต ก็เป็นไปได้ว่า สรรพากรสหรัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากการ Top-up กับบริษัทลูกของ Tech Companies ขนาดใหญ่ที่มักจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า

นอกจากนี้ สหรัฐยังได้มีแผนปรับกฎหมายภาษีในหมวดป้องกันการถ่ายโอนกำไรในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลายประการ เช่น เกณฑ์เรื่อง Global Intangible Low Tax income และข้อเสนอเรื่อง SHIELD plan (Stopping Harmful Inversion and Ending Low-Tax Developments) เป็นต้น

         ท้ายที่สุด ข้อเสนอนี้ของ OECD ยังได้กำหนดให้ประเทศที่มีกฎหมาย Digital Services Taxes อยู่เดิม (เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส) ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และก้าวเข้าสู่หลักการใหม่นี้ด้วยกัน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันรายละเอียดของข้อเสนออาจยังไม่ยุติในทุกประเด็น และกฎหมายภายในของประเทศต่าง ๆ ก็อยู่ระหว่างรอทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อเสนอในครั้งนี้ จะเป็นการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ของกฎหมายภาษีอากรระหว่างประเทศที่น่าจับตามอง.                

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน