'คิดอนาคตแก้โควิด' 3 สิ่งที่ต้องทำก่อนไม่เหลืออนาคตให้คิด

'คิดอนาคตแก้โควิด' 3 สิ่งที่ต้องทำก่อนไม่เหลืออนาคตให้คิด

เรามาถึงแล้ว จุดที่ถูกบีบบังคับให้ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน เราสับสนและกังวล แม้กระทั่งกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินซึ่งเป็นปัจจัยขั้นต่ำสุด

คำว่า “Failed State” หรือ รัฐล้มเหลวกำลังปลิวว่อนท่ามกลางสายลมฤดูฝนที่เต็มไปด้วยไวรัสร้าย

ประเทศไทยกำลังฝืนแรงตรรกทั้งปวงเพื่องัดความเปราะบางทั้งหมดที่มีขึ้นมาเล่นเกมหมากล้อมมรณะความเร็วสูงกับระดับเซียนอย่างไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เมื่อเราด้อยค่าวิทยาศาสตร์ เท่ากับเราเลือกที่จะเล่นแบบปิดตา ได้ยินเพียงเสียงหมากที่ค่อย ๆ ร่วงหล่น

แต่ทุกปัญหามีทางออก และทุกทางออกเริ่มจากการมองอนาคตและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  ในโลกที่มีทั้ง VUCA และโควิด-19 ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้สมบูรณ์แบบเหมือนในห้องแล็บ แต่การเจียดเวลามาหยั่งคิดอนาคตให้มากฉากทัศน์เข้าไว้จะทำให้เราพร้อมและไม่ประมาท ต่อไปนี้คือ 3 อย่างที่อนาคตตะโกนกลับมาให้ดังๆ จากทั้งในและนอกประเทศว่า ตื่นได้แล้ว

อันดับแรกคือปรับโครงสร้างและเพิ่มความชัดเจนในการทำงานระหว่าง ศบค. และหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้กระจ่างชัด เดลต้าจะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่ภาครัฐต้องต่อกรด้วย ควรตีแผ่ออกมาให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการทำงานระหว่างและภายในหน่วยงานภาครัฐในภาวะวิกฤตขณะนี้เป็นอย่างไร ติดขัดที่จุดใด ประเทศไทยมีบุคลากรคุณภาพมากพอที่จะช่วยกันทลายคอขวดและนำเสนอทางออกได้ แต่จะทำไม่ได้หากไม่เปิดเผยหรือไม่ขอความช่วยเหลือ 

ช่วงต้นวิกฤตมีความคิดว่าจำเป็นต้องปลดล็อกกลไกทางกฎหมายให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิบัติงานข้ามขอบเขตได้ ทว่าในเชิงปฏิบัติกลับไปได้ไม่ “สุดซอย ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเองยังพบกับความครึ่ง ๆ กลาง ๆ ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบอะไร อะไรทำได้ไม่ได้  

วิกฤตนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแบบไม่เคยมีมาก่อน การรวมศูนย์อำนาจจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนในระบบการทำงานและการสื่อสาร และมีการไหลของข้อมูลแบบ two-way ทั้งแนวตั้งและนอนจนเกิดการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าขณะนี้ไม่มีทั้งคู่ ดังนั้นต้องเพิ่มความชัดเจนของขอบเขตหน้าที่ กระจายอำนาจไปยังระดับปฏิบัติการที่มีศักยภาพ จากนั้นร่วมพิจารณากับคณะกรรมการอิสระเพื่อออกแบบโครงสร้างและขอบเขตความรับผิดชอบกันใหม่  เราไม่สามารถผิดพลาดแบบที่แล้วมาได้หลายครั้ง

อันดับที่สอง คือ ปลดล็อกและอุดหนุนการสั่งซื้อ พัฒนา และฉีดวัคซีนอย่างมีแบบแผน โควิด-19 จะยังไม่ไปไหนอีกอย่างน้อยสองปี การฉีดวัคซีนเพื่อต้านสายพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอดจนการทดสอบโรคแบบ Rapid Test จะเป็นปกติใหม่ที่ปกติที่สุด มูลค่าชีวิตทางสถิติเคยถูกประมาณไว้อยู่ที่ราว 20 ล้านบาทต่อคน หลับตาดีดลูกคิดอย่างไรก็คุ้มค่าที่ภาครัฐจะทุ่มทั้งหน้าตักเพื่อให้เกิดความสำเร็จ

เกินดีกว่าขาด ทางเลือกดีกว่าไม่มีให้เลือก จะดีกว่าหรือไม่หากภาครัฐเปิดช่องให้เอกชนติดต่อตรงกับผู้พัฒนาวัคซีนโดยคุ้มครองค่าเสียหายให้ทั้งหมด หรือ อุดหนุนการฉีดวัคซีนให้จริงจังกว่าปัจจุบัน ให้ไม่ต้องเข้าเนื้อประชาชน ไม่ว่าจะวัคซีนแบบใด เวลานี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความเสี่ยงจากความตายกับความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงกำไร ข้อจำกัดของระบบราชการมีทุกประเทศ แต่ในยามวิกฤตก็ต้องกล้าเลือกที่จะข้ามมันไป หรือเล่นบทพระรองบ้างเพื่อรักษาชีวิตประชาชน

อันดับที่สาม คือ ร่วมมือกับเอกชนในการทำระบบข้อมูลเพื่อติดตามโรค ทดสอบโรค และสถานะของการมีภูมิคุ้มกันแต่ละแบบ เราเปลี่ยนคู่แข่งและกฎกติกาของเกมหมากรุกมรณะความเร็วสูงนี้ไม่ได้แต่เราควรเลิกเล่นแบบปิดตา ถึงเวลาเบิ่งเนตรแล้วอ่านหมากถัดไปของไวรัสให้ออก เนื่องจากเกมนี้เราเล่นแต่เกมรับไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่การเปิดเกมรุกจำเป็นต้องมีระบบข้อมูลที่สดใหม่และครบถ้วน ว่าไวรัสน่าจะอยู่ที่ใดเวลาใด วัคซีนแต่ละเข็มที่ฉีดไปแล้วและที่จองไว้บัดนี้อยู่หนใด จึงจะคาดคะเนด้วยหลักสถิติและระบาดวิทยาได้

เทคโนโลยีดิจิทัลคืออาวุธสำคัญที่สำคัญพอ ๆ กับวัคซีน เราล่าช้ามาปีครึ่ง แต่วันนี้ก็ยังไม่สายที่จะเริ่มใหม่ หนึ่งในทางเลือกที่ถูกมองข้ามคือการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบ SMS ของบริษัทโทรคมนาคมทุกรายที่มีอยู่แล้ว ตามแนวทางคล้ายระบบ 1922 ของไต้หวัน ที่สามารถเก็บข้อมูลความเสี่ยง สอบถามข้อมูลสถานะสุขภาพและวัคซีนที่ได้รับ อีกทั้งยังเตือนภัยได้ด้วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ต้องดาวน์โหลดหรือให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อยากให้

อีกทั้งผู้ใช้งานทั้งประเทศก็คุ้นเคยและเชื่อมต่อกับระบบอยู่แล้ว โดยภาครัฐควรรับผิดชอบต้นทุนทั้งหมดของระบบนี้ หากสำเร็จยังสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อคิดมาตรการเปิดปิดเมืองและนโยบายเศรษฐกิจได้ดีขึ้นเหมือนระบบ ZOE COVID Symptom Study ในประเทศอังกฤษด้วย

 

วันนี้เรากำลังพลาดท่าให้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีแม้แต่สมอง มองไปข้างหน้าจะพบว่ายังมีอีกหลายสนามรบที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานในยุคปัญญาประดิษฐ์ สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ และภาวะโลกร้อน  

เราจึงต้องคิดอนาคตเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและกระจายอำนาจเพื่อร่วมกู้อนาคตกลับมา ทั้งหมดนี้มิใช่เรื่องของผลงานหรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ มิใช่เรื่องของความรู้สึก มันคือทางออกและสิ่งที่ถูกต้องในเชิงจริยธรรม.