กำลังใจในยามยาก

กำลังใจในยามยาก

บุคลากรด่านหน้าสมควรอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลมากที่สุด

ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งล่าสุด ซึ่งเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติทางสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว

ถึงแม้จะมีความพยายามเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม เพิ่มจำนวนเตียง และการเร่งจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแต่ปัญหาสำคัญที่สุดคือเราไม่มีทางเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างทันทีทันใด

การทำงานของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ในปัจจุบันจึงทำงานกันอย่างเต็มพิกัด ส่วนมากทำงานกันตลอดช่วงวิกฤติที่ผ่านมาโดยไม่ได้หยุดพัก โดยต้องพบกับภาวะที่น่าหดหู่เพราะโรงพยาบาลไม่เพียงพอจะรักษาผู้ป่วยได้ทุกคน

สังคมส่วนใหญ่กำลังให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีน และชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน แต่การให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่แพ้กัน เพราะบทบาทความเป็นบุคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้อื่นแต่กลับมีจำนวนคนไม่มากพอ

แม้วันนี้เราจะเห็นความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่การเน้นไปที่การดูแลบุคลากรทางการแพทย์กลับมีไม่มากเท่าที่ควร ในขณะที่โครงการรับบริจาคต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มากนัก อาจเป็นเพราะมาตรการจูงใจที่ยังไม่ดีพอ 

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหันมาเร่งทำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับผู้บริจาคเช่นการหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2-3 เท่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะในปัจจุบันแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติแต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ได้อานิสงส์จากภาวะเช่นนี้จนมีรายได้และผลกำไรสูงกว่าภาวะปกติ การจูงใจให้บริษัทเหล่านี้เสียสละรายได้เพื่อส่วนรวมจึงช่วยบรรเทาภาระให้กับรัฐบาลได้

และสำหรับคนทั่วไป แม้จะไม่มีกำลังจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถาการณ์เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง แต่ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่เพียงสุขภาพกายที่ต้องป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่ แต่รวมไปถึงสุขภาพใจที่ต้องรู้จักผ่อนคลายตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมไปกับข่าวร้ายรอบตัวจนซึมเศร้า ขาดกำลังใจในการใช้ชีวิต

เราจึงจำเป็นต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับในสถานการณ์เช่นนี้ และต้องแยกแยะให้ได้ว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถควบคุมดูแลด้วยตัวเองได้ เช่นการป้องกันตัวเอง การช่วยตักเตือนคนรอบตัวให้รักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมืออยู่เสมอ ฯลฯ

แต่บางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่นภาวะการณ์ระบาดในต่างประเทศที่เกิดเชื้อกลายพันธุ์ การเกิดคลัสเตอร์ระบาดในจังหวัดอื่น ฯลน ซึ่งเราไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การหวาดวิตกในเรื่องนี้จึงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นได้

การปรับตัวประการสำคัญจึงเป็นเรื่องของการมีสติอยู่เสมอ อย่าหลงไปกับข่าวจากโซเชียลมีเดียที่หลั่งไหลเข้ามาจนเกินพิกัด ซึ่งมักจะเป็นข่าวร้าย เป็นข่าวที่ยิ่งเสพ ยิ่งทำให้จิตใจหดหู่ แต่การเรียกสติคืนมาด้วยการแยกแยะว่าอะไรที่อยู่นอกเหนือการจัดการของตัวเราก็ทำได้เพียงแค่รับรู้ แต่อะไรที่เราสามารถจัดการเองได้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ภาวะเช่นนี้มักจะก่อให้เกิดความเครียดสะสมโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการที่ร่างกายจะหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ทำให้เราเกิดความเครียดหรือความสุข ก็ล้วนมาจากพฤติกรรมของตัวเราเองทั้งนั้น นั่นคือหากเราเลือกที่จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุด และลดความกังวลในเรื่องที่ไม่สามารถจัดการได้ แล้วปล่อยวางความเครียดในเรื่องต่าง ๆ ลงให้มากที่สุดเราก็ย่อมผ่อนคลายตัวเองและรู้สึกสงบอยู่ภายในด้วยสารแคมีต่าง ๆ ที่สมองหลั่งออกมา

แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราเก็บเอาข่าวเชิงลบทุกข่าวมาคิด ไม่ว่าจะเป็นการระบาดสายของสายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ การแพ้วัคซีนจนถึงขั้นเสียชีวิต ฯลฯ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเครียดแล้วยังมีข่าวปลอมอีกมากมายยิ่งอ่านก็ยิ่งสับสนหวาดกลัว สมองเราก็จะเต็มไปด้วยฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเศร้าจนชีวิตจมอยู่กับความทุกข์

แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่เรายังเลือกได้เสมอว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตใจของเราเท่านั้น