กระแสแห่งความไม่แน่นอนได้พัดพาไทยไปในจุดที่ไม่ถนัด
ในภาวะวิกฤติของชาติขณะนี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งก็คือ ”ความไม่แน่นอน”
บทความโดย นายแพทย์ ชำนาญ ภู่เอี่ยม อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เพราะไม่ว่าโควิด ไม่ว่าวัคซีน ไม่ว่านโยบาย ไม่ว่าบรรยากาศ ไม่ว่าปัจจัยแวดล้อมต่างๆของประเทศไทยต่างก็เต็มไปด้วย "ความไม่แน่นอน" (Uncertainty)… เช่น วัคซีนโควิดก็เริ่มต้นด้วยความกลัววัคซีน-การไม่อยากฉีดวัคซีน-ไม่นานก็เปลี่ยนมาเป็นต้องการฉีดวัคซีนกันอย่างท้วมท้นจนจัดหาไม่ทัน-ต่อมาก็เริ่มไม่แน่ใจคุณภาพวัคซีนบางตัว-เริ่มเรียกร้องอยากได้วัคซีนตัวอื่น.. การตรวจหาโควิดเชิงรุกก็ไม่รู้ว่ารุกกันแค่ไหนเพียงใด เพราะรุกทีไรก็พบโควิดมากมายก่ายกอง ที่สำคัญก็คือเข้าถึงการตรวจก็แสนสาหัส ต้องรอคิวรอนัดกันข้ามวันข้ามคืน…จะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์ก็ทำเอาจนจะสายเกินไป…ความเด็ดขาดฉับไว แทบจะไม่มีให้เห็น…
เมื่อต้องบริหารงานท่ามกลางปัจจัยแห่ง”ความไม่แน่นอน” ผลที่ออกมาจึงเต็มด้วยความไม่แน่นอน… และ”เมื่อไม่มีอะไรที่แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างจึงย่อมเป็นไปได้..”(ทั้งบวกและลบ)(When nothing is sure , everything is possible) (Margaret Drabble) นั่นก็คือ ผลการบริหารงานอาจจะประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวก็ได้ เพระไม่มีหลักประกันอันใดจากความไม่แน่นอน..กระแสแห่งความไม่แน่นอนได้เริ่มพัดพาไทยไปในจุดที่ไม่ถนัดแล้ว…
ปัญหาที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการบริหารโควิด-19ของไทยที่สำคัญขณะนี้ก็คือ…
1.ความไม่แน่นอน (Uncertainty) รวมความถึง ความไม่มีเสถียรภาพ ความไม่คงที่ ความไม่นิ่ง ความไม่เที่ยง ในแง่การบริหาร คือการมีความเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่ต้องการจะให้เป็น…
2.ความไม่ชัดเจน (Unclear Status) รวมความถึง ความคลุมเครือ ความไม่เด็ดขาด การไม่ตัดสินใจ ความลังเลใจ ความสับสน และความโลเลกลับไปกลับมา…
3.การมีแรงต้าน (Resistance)ในรูปแบบต่างๆ
ความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจน และแรงต้านในรูปแบบต่างๆ ที่มีให้เราเห็นในทุกขั้นตอนของการบริหารโควิด19ได้แก่…
1.จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่แท้จริงมีจำนวนเท่าไร เพราะตัวเลขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการค้นหาเชิงรุก ค้นหามากก็พบมาก ค้นหาน้อยก็พบน้อย..ไม่ค้นหาก็ไม่พบ…
2.ต้นตอแหล่งติดเชื้ออยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะระยะหลังชักจับต้นชนปลายไม่ถูก แบบไม่รู้ที่มาที่ไป คลัสเตอร์เกลื่อนเมือง ผู้ติดเชื้อชักจะหาสังกัดยาก…
3.ทิศทาง กลยุทธ์หรือทีเด็ด(ไม้ตาย)ใหม่ๆในการสู้โควิด-19มีบ้างหรือไม่อย่างไร และถ้าการล็อกดาวน์ การกดโรค(Suppression) การยับยั้งโรค บรรเทาโรค หรือ ชลอโรค (Mitigation) ถ้าไม่สำเร็จจะทำอย่างไรต่อไป…
4.ศักยภาพและประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองค้นหาเชิงรุกมีเพียงพอทันกับสถานการณ์หรือไม่(แค่เห็นภาพความยากลำบากในการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดก็พอบอกได้ถึงประสิทธิภาพ)
5.การจัดหา การกระจาย และการฉีดวัคซีนที่ไม่แน่นอนทุกวันนี้เมื่อไรจะนิ่งเสียที…
6.การมีแรงต้าน(Resistance)ในรูปแบบต่างๆนับวันจะสูงขึ้น
สำหรับข้อสุดท้ายนี้ จะเห็นว่ายิ่งวิกฤติการเนิ่นนานไปโดยไม่มีสัญญาณแห่งความสำเร็จให้เห็น ก็จะยิ่งมีแรงต้านเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แรงต้านมีทั้งบริสุทธิ์ที่เกิดจากวิกฤติศรัทธา และแรงต้านที่มีอคติโดยมีเป้าหมายด้านอื่นแอบแฝงมาตั้งแต่ต้น อาจกล่าวได้ว่ารัฐมีทั้ง “กองเชียร์ “และ”กองแช่ง”คู่ขนานกันไป..
ในเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนเราจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถจัดการความไม่แน่นอนได้ เราก็จะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนต่อไปไม่หยุดหย่อน..ถ้าควบคุมความไม่แน่นอนไม่ได้ ความไม่แน่นอนก็จะมาควบคุมเรา มันทำให้เราสับสนวุ่นวายแก้ปัญหาอะไรไม่ได้อย่างจริงจังเพราะหลายสิ่งหลายอย่างมันไม่นิ่ง…
ในการบริหารสถานการณ์เช่นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องจัดการกับความไม่แน่นอนให้ได้ แม้จะไม่ได้ทั้งหมด จัดการให้ได้เป็นบางส่วนก็ยังดี เพราะมันจะช่วยลดความไม่แน่นอนลงไป นั่นก็คือ ต้องพยายามทำทุกอย่างให้นิ่ง เพราะถ้าไม่นิ่ง เราก็ต้องวิ่งไล่ตามปัญหาไม่หยุดหย่อน และยิ่งถ้าขาดความฉับไว ล่าช้าไม่ตัดสินใจ ยิ่งทำให้เราเสียโอกาส เพราะความไวคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ(Success loves speed)
เมื่อมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าไม่ว่าภาวะวิกฤติโควิด หรือ สถานการณ์วัคซีนโควิดที่สับสนวุ่นวาย ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายและเหนือการควบคุมของเราทั้งหมดตั้งแต่ต้น หากแต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถควบคุมให้มันแน่นอนได้ และป้องกันได้ตั้งแต่ต้น…เช่นการมีแผนการล่วงหน้าที่ดี(Planning) การมีทางเลือกที่ดี(Options) มีการบริหารความเสียง(Risk Management) มีการซักซ้อมจำลองสถานการณ์ที่เลวร้าย(Worst case scenario) มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า(Early warning system)ที่ดี รวมทั้งมีระบบการติดตามควบคุมกำกับที่มีประสทธิภาพ(Monitoring System) สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เราสามารถควบคุมความไม่แน่นอนได้ดียิ่งขึ้น มิใช่ปล่อยให้ความไม่แน่นอนมาควบคุมเรา จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์มากมายเช่นทุกวันนี้…
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงขอแบ่งขั้นตอนของภาวะวิกฤติไว้ดังนี้….
1.ระยะก่อนภาวะวิกฤติ (Precrisis)
ตั้งแต่เราชนะโควิดได้ในช่วงแรก หลังจากนั้นดูเหมือนเราจะมองโลกดีเกินไป(นักกฏหมายบางท่านเรียกว่า..ประมาท) อาจขาดการคาดการณ์ล่วงหน้าและอาจขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี แม้กระทั่งการจัดหาวัคซีนก็ยังอยู่บนฐานของสถานการณ์โควิดที่ดีในช่วงนั้น..(คือไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ)จึงมีผลกระทบมาถึงทุกวันนี้…
“เมื่อไรก็ตามที่เราประมาท ลืมการเปลี่ยนแปลงรอบตัวเรา เราจะถูกกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดพาเราไปในจุดที่ไม่ถนัด.” (Andrew Grove)….
โควิด-19ที่เราชนะได้ช่วงแรก คือโควิดระดับอนุบาลที่จัดการง่าย แต่พอเรามาเจอโควิดระดับมหาวิทยาลัยสายพันธุ์อังกฤษ(อัลฟ่า)เราจึงไปไม่ถูก..ยิ่งจะต้องมาเจอโควิดสายพันธุ์เดลต้าระดับปริญญาเอกในเร็วๆนี้ ก็ไม่อยากนึกภาพเลยว่าจะออกมาทางใด….“ตราบใดที่เราตามโควิดไม่ทัน ก็อย่าได้ฝันว่าจะชนะโควิด”
นอกจากนี้ท่าทีของผู้นำก็มีอิทธิพลต่อทีมงาน และประชาชนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะความรวดเร็วฉับไว…
ขบวนการนักซิ่งถือว่า….”ความเร็วของผู้นำ คือความเร็วของผู้ตาม”
(The speed of the leader is the speed of the gang.) (Mary Kay Ash)
ในแง่การบริหารยุคใหม่ถือว่า…“ไม่มีการจำกัดความไว ในหนทางสู่ความสำเร็จ”
(There are no speed limits on the road to success.) (David w. Johnson)
เป็นที่น่าเสียดายว่า การเกิดภาวะวิกฤติโควิดรอบใหม่ของประเทศไทยใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และเหนือการควบคุมของเรา เพราะเรามีเวลามากมายและมีหลายปัจจัยที่เราสามารถควบคุม ป้องกันได้หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ตั้งแต่ต้น…มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย หากแต่เราสามารถป้องกันได้ถ้ารู้จักการปรับตัวไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง…
“ความโค้งของถนน มิใช่การสิ้นสุดของถนน แต่มันจะสิ้นสุดถ้าไม่รู้จักเลี้ยวโค้ง”
(A bend in the road is not the end of the road unless you fail to make the turn.)
2.ภาวะวิกฤติ (Crisis)
ระยะPrecrisisได้พัฒนาไปสู่ระยะCrisisในระยะเวลาอันสั้นได้เพราะเหตุผลข้างต้น…
สัญญาณของภาวะวิกฤติที่เห็นชัดคือความโกลาหล สับสนวุ่นวาย ไร้ทิศทาง ไร้การควบคุม และ ชุกชุมด้วยข่าวลือเชิงลบ มีบรรยากาศของการบริหารงานที่ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดทิศทางที่ชัดเจนทำได้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันบ่อยครั้ง เกิดบรรยากาศมากหมอมากความความ ขณะเดียวกันก็เกิดแรงต้านในรูปแบบต่างๆ การหาแพะรับบาป การเกิดวิกฤติศรัทธา ตลอดจนขาดบรรยากาศแห่งความร่วมมือที่ดีจึงตามมา…
เราต้องยอมรับว่า ช่วงเวลาที่หมดไป “เหตุที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ ก็เพราะเราไม่มีความฉับไวเพียงพอ”
(If everything seems under control, you're not going fast enough.) (Mario Andretti)
3.ภาวะหลังวิกฤติ(Postcrisis)
สมมุติว่าถ้าเราผ่านวิกฤติการครั้งนี้ไปได้ จะด้วยผลของวัคซีน ผลของของความร่วมมือ หรือโควิดแผ่วไปเองก็ตาม และสิ่งที่แน่ใจว่าจะเกิดตามมาก็คือ ความไม่สงบสุขของพี่น้องคนไทยจะถูกเปลี่ยนมือจากโควิด มาเป็นฝีมือนักการเมืองบางกลุ่ม(เจ้าเก่า)ต่อไป…
เราต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่า วิกฤติการณ์ครั้งนี้ เราไม่สามารถคุมโควิดได้ ไม่สามารถคุมคนฝ่าฝืนกฏหมายได้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ เราก็ไม่สามารถทำให้พวกเขาทำงานได้ดั่งใจเราได้ ดังนั้นเราจงอย่าได้หวังว่าจะเอาชนะไวรัสโควิด แต่ต้องให้คนไทย”เอาชนะใจตนเอง”มากกว่า เพราะการที่คนไทยรู้จักควบคุมตนเองให้มีวินัยด้านสุขภาพกันอย่างจริงจัง จะเป็นหนทางการยืนระยะในการอยู่กับไวรัสโควิดตัวนี้ได้อย่างสงบและปลอดภัย..เพื่อรอจนกว่า…
1.วัคซีนโควิดจะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์
2.การค้นพบยาหรือเทคโนโลยีที่สามารถจัดการไวรัสตัวนี้ได้โดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ
3.โคโรน่าไวรัสโควิด-19ลดการรุนแรงลง หรือลดการระบาดลงอันเนื่องจากภูมิคุ้มกันหมู่หรือจากสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหรือลดความรุนแรงลงไปด้วยตัวของมันเอง
เราอย่าไปหวังว่าจะมีฮีโร่ที่ไหนมาช่วยเรา “แต่จงถือว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้เป็นช่วงเวลาที่ความเป็นฮีโร่ในตัวเราทุกคนจะถูกเผยตัวตนออกมา” (It’s during the hard times when the hero within us is revealed.)
การที่เราจะอยู่กับความไม่แน่นอนในโลกใบนี้ให้ได้ อย่างน้อยที่สุดเราต้องมี ”ความแน่นอน” ในตัวเรา..มีความเป็นฮีโร่รู้จักหน้าที่มีวินัยและควบคุมตนเองให้ได้ ..เพราะถ้าเราไม่ควบคุมตนเอง โควิดก็จะมาควบคุมเรา…
โดยสรุป…หนทางเดียวที่มนุษย์จะอยู่รอดจากโควิดได้ จำเป็นจะต้องปรับพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลัก ถ้าควบคุมตนเองให้แน่นอนได้ ก็ควบคุมโควิดได้แน่นอน “ ถ้าคนไทยทุกคนช่วยกันทำ เป็นรูปธรรมแน่นอน….
“ต่อให้น้ำท่วมโลกก็ไม่สามารถทำให้เรือของเราล่มได้ ถ้าเราไม่ปล่อยน้ำให้เข้ามาในเรือเรา
โควิดก็เช่นกัน มันไม่สามารถทำร้ายเราได้เลยถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้มันเข้ามาในตัวเรา…
และไม่ว่าโควิดจะกี่สายพันธุ์มันก็มิอาจทำร้ายเราได้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้มัน”.