อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนคุยกันไว้นี่นา!
เคยเจอไหม ในห้องประชุมก็ตกลงร่วมกันแล้ว แต่พอออกจากห้องประชุมกลับไปทำอีกแบบ?
ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสทำโครงการที่ปรึกษาต่อเนื่องให้กับผู้นำองค์กรกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งใจผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ โครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน ปฏิรูปเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงการปฏิรูปคนและวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมคนและองค์กรให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โอกาสและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
บางองค์กรมีนโยบายปรับเปลี่ยนภายในแทบทุกปี เริ่มตั้งแต่ระดับโลก มาจนถึงระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ช่วงปีแรกๆ ก็เป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ ในมุมมองพนักงาน แต่หลังๆ พอเปลี่ยนบ่อยๆ เข้า พนักงานก็เริ่มชิน และปรับตัวได้กลับการเปลี่ยนแปลง
แปลกแต่จริง! ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรคือ ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมคงไม่สามารถทำให้ทุกคนแฮปปี้ได้ มีคนได้ประโยชน์และมีคนเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่พลาดที่ดิฉันจะได้ยินเสมอคือ เมื่อระดับบริหารตกลงกันแล้ว ทำไมเวลาไปปฏิบัติกลับไปทำอีกแบบ!
อาการ “อ้าวเฮ้ย” มีหลายรูปแบบ เช่น
· เมื่อต้องตัดสินใจ กลับเห็นแก่พวกพ้องตนเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม
· ตกลงกันว่าให้สื่อสารทิศทางนี้ กลับไปพูดอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องสื่อสารข่าวร้าย
· แม้เรื่องที่คุยกันจะบอกว่าเป็นความลับ พอเดิมออกจากห้องประชุม คนรู้หมด
บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ทำการศึกษาคุณลักษณะผู้นำองค์กรที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจพาคนก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงและความยากลำบาก เรียกว่า ผู้นำแบบนักสื่อสารผู้เข้าใจคน หรือ Empathic Communicator ซึ่งเป็นบุคคลที่มีลักษณะดังนี้
1. ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี (Exhibiting Integrity) กล่าวคือเป็นคนที่ตัดสินใจอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ทุกการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงองค์กรล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องยาก เมื่อตกลงตัดสินใจกันในทิศทางนี้แล้ว ในฐานะผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบในผลลัพธ์ทั้งบวกและลบ รับทั้งผิดและรับทั้งชอบ ไม่ใช่รอรับแต่ชอบอย่างเดียว
2. ปฏิบัติและสนับสนุนให้ทีมลงมือปฏิบัติตามทิศทางที่ตกลงกันไว้ (Building and Aligning Shared Vision) หน้าที่สำคัญของผู้นำนั้นนอกจากจะกำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ยังต้องผลักดันในสิ่งที่ตกลงกันไว้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ในห้องประชุมไม่เห็นด้วย แต่ไม่พูด หรือพูดแสดงความคิดเห็นแล้ว แต่มติไม่ยอมตามความคิดตน พอถึงเวลาจริงเลยไม่ปฏิบัติสะอย่างงั้น
3. สื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน (Creating Assertive Dialogue and Empathic Communication) การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ผู้นำไม่ใช่ทำเพียงเพื่อสื่อสารนโยบายองค์กรให้เสร็จ แต่ความสำเร็จอยู่ที่ทำให้พนักงานเข้าใจถึงนโยบายใหม่นี้
ยิ่งหากเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ การสื่อสารที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนจากใช้ปากเป็น “ใช้หูสื่อสาร” เคยเจอไหมผู้นำที่ถามลูกน้องว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ลูกน้องอ้าปากตอบยังไม่ถึง 3 คำ กลับกลายเป็นท่านผู้นำเป็นคนพูดซะเอง
สรุปเลยไม่รู้ว่า อยากจะเข้าใจลูกน้องจริงหรือไม่ เช่นนี้สิ่งที่คุณพยายามสื่อสารเพื่อให้เข้าใจทิศทางเดียวกัน พูดอีก 3 ปีก็ไม่มีใครเข้าใจ
#EmpathicCommunicator #LeadershipACT #Leadership #Thailand #TheWorld #Slingshotgroup