ส่องงบแบงก์ไทย เมื่อกำไรโตสวนทางเศรษฐกิจ
ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงการรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยในไตรมาสที่ 2
ซึ่งในปีนี้ผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มระบาดเป็นวงกว้างตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2564 ถือเป็นปัจจัยหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ในขณะนี้ จะยังไม่มีการรายงานข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2564 อย่างเป็นทางการ แต่หลายคนก็มีความกังวลว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสถดถอยต่อเนื่อง ดังเช่นในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่ผลจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในเดือนเมษายน ปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการหดตัวลงสูงถึง 12.1%
อย่างไรก็ตาม หากศึกษาถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ผู้อ่านหลายท่านอาจแปลกใจหากทราบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา ข้อมูลการรายงานผลประกอบการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ได้มีการรายงานออกมาเบื้องต้น แสดงข้อมูลที่น่าสนใจว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่โดดเด่นในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยผลกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 72% จากไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
สาเหตุหลักที่สามารถอธิบายได้ถึงของการเติบโตของกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ไทยที่สูง มีส่วนสำคัญ 2 ประการ คือ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการตั้งสำรอง โดยในส่วนแรก รายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ ถือว่าได้รับผลกระทบในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างชัดเจนต่อรายได้ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและยอดสินเชื่อรวมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายนปี 2563 ส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ปรับตัวลดลง 4 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการจัดการต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ภาระดอกเบี้ยเงินฝากมีการปรับตัวลงเช่นกัน ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยที่ลดลงกว่า 19% ส่งผลทำให้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 มียอดรวมอยู่ที่ 113,000 ล้านบาท โดยมีการเติบโต 0.3% จากไตรมาส 2 ปี 2563
ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ไม่ได้กล่าวถึงบ่อยครั้งนัก เกี่ยวกับระดับยอดรายได้ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ที่คงยังอยู่ในระดับสูง แม้มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากระทบอย่างรุนแรง คือประเด็นการบันทึกรายได้ตามมาตรฐานทางบัญชี ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบันทึกรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ สามารถคำนวณรวมเข้าไปในรายได้ดอกเบี้ยทั้งหมดได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ตัวเลขรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อในกลุ่มนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะต่ำกว่าการบันทึกไว้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ที่มีความรุนแรงกว่าสถานการณ์ในปี 2563 ที่ผ่านมา อาจส่งผลทำให้สินเชื่อที่เข้าโครงการพักชำระหนี้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น จนอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนนี้ได้
อีกส่วนหนึ่งที่มีผลสำคัญต่อรายได้สุทธิธนาคารพาณิชย์ที่สูงขึ้นในไตรมาส 2 นี้ คือผลจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อ โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้มีการตั้งสำรองไว้ล่วงหน้าในปริมาณสูงมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ จึงมีความจำเป็นต้องรองรับความเสี่ยงในระดับสูงไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 นี้ ธนาคารพาณิชย์มีความเข้าใจถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมลูกหนี้จากโครงการพักชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถวางแผนลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการตั้งสำรองขนาดใหญ่ ให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่ากับที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2563
โดยปริมาณการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีการปรับตัวลดลง 26% จากไตรมาส 2 ปี 2563 แต่ถือว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 1 ปี 2564 เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีทิศทางยาวนานต่อเนื่องต่อไปอีกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ ธนาคารพาณิชย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเพิ่มการตั้งสำรองขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จากความสามารถในการจ่ายหนี้ที่ลดลงในอนาคตของลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจ SMEs และรายย่อย
แนวโน้มการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 จึงยังคงจะเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพสินเชื่อ เป้าหมายหลักของธนาคารพาณิชย์ต่อไปจึงควรเน้นการดูแลลูกหนี้และจัดการคุณภาพสินเชื่อผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดต้นทุนด้านความเสี่ยงลง จนช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับรายได้ดอกเบี้ยได้อย่างที่ได้มีการประเมินไว้