หลักสากลในการสลายการชุมนุมที่แท้จริง

หลักสากลในการสลายการชุมนุมที่แท้จริง

ข้อโต้แย้งต่อการสลายการชุมนุม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายที่ถูกสลายการชุมนุมและนักวิชาการ ต่างยกหลักสากลมาอ้างด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกัน

ถึงขนาดที่ ผบ.ตร.ท้าให้ไปเปิดยูทูปการสลายม็อบในต่างประเทศดู โดยยืนยันว่าตำรวจทำน้อยมาก จึงสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอันมากต่อผู้ที่ใคร่รู้ว่าหลักสากลในการสลายการชุมนุมที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไรแน่ ผมจึงขอนำเสนอให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1.ข้อปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ต้องทำตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติ เมื่อ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา โดยในข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ

หากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการที่ว่า

  1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น
  2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการสลายการชุมนุมยังต้องทำตามหลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) อีกด้วย เพราะเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 โดยข้อ 2 กำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

2.การใช้อุปกรณ์

แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน โดยผมจะนำมายกตัวอย่างเพียง 3 ชนิดเพราะจำกัดด้วยเนื้อที่(ฉบับตีพิมพ์) คือ

2.1 ปืนใหญ่ฉีดน้ำ (Water Canon) ซึ่งออกแบบมาเพื่อสลายการรวมกลุ่ม หรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้างเท่านั้น ควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัดและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ปืนใหญ่ฉีดน้ำต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้ ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อาการช็อกเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็น, เสี่ยงลื่นล้ม, เสี่ยงถูกฉีดอัดกับกำแพง ฯลฯ

2.2 แก๊สน้ำตา(Tear Gas) ต้องยิงใส่กลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรงจากระยะไกลเพื่อสลายการชุมนุมหรือยุติความรุนแรง การยิงแก๊สน้ำตาในพื้นที่อับอากาศที่ไม่มีทางออกหรือการระบายอากาศที่เพียงพอ อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากภาวะขาดอากาศหายใจเเละก่อให้เกิดอาการเนื้อเยื่อทางเดินหายใจถูกทำลายเเละอาการเลือดออกภายใน หากได้รับเเก๊สน้ำตาในปริมาณที่มากเกินไป

2.3 กระสุนยาง (Kinetic Impact Projectiles) ต้องใช้ต่อบุคคลที่ใช้ความรุนแรง กรณีที่จะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่หรือสาธารณะเท่านั้น การเล็งควรเล็งไปที่ท้องส่วนล่างหรือขา การเล็งที่หน้าหรือหัวอาจทำให้กะโหลกศรีษะแตก ตาบอด(ดังเช่นกรณีของคุณลูกนัท)หรือเสียชีวิตได้ และการยิงแบบอัตโนมัติหรือทีละหลายๆนัดไม่มีความแม่นยำ ขัดต่อหลักความจำเป็นและการได้สัดส่วน

3.ขั้นตอน จากเบาสุดไปหาหนัก คือ

  1. ต้องมีการประกาศเตือนก่อนว่าจะมีการเข้าไปดำเนินสลายการชุมนุม โดยการประกาศต้องทำให้ฝูงชนได้ทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง
  2. เมื่อประกาศเตือนแล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะสลายการชุมนุมไป (โดยให้ระยะเวลาพอสมควร ) เจ้าหน้าที่อาจประกาศเตือนว่าหากไม่สลายตัวไปด้วยความสมัครใจ เจ้าหน้าที่จำต้องใช้น้ำฉีดใส่ฝูงชน
  3. หากผู้ชุมนุมยังไม่สลายตัวไป เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศถึงขั้นตอนต่อไปด้วยการใช้ แก๊สน้ำตา โดยใช้แก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นอันตราย กล่าวคือต้องเป็นชนิดที่ผู้โดนนั้นสามารถที่จะทำให้อาการที่โดนจากแก๊สน้ำตานั้นบรรเทาเบาบางลงได้ด้วยตัวเอง
  4. เมื่อขั้นตอนดังกล่าวไม่อาจใช้การได้ จะมีการประกาศเตือนว่าเจ้าหน้าที่อาจจะต้องใช้กระบองเข้าควบคุมฝูงชน โดยการใช้กระบองจะใช้ได้ต่อเมื่อฝูงชนปฏิเสธที่จะสลายตัวไปเท่านั้น และการใช้กระบองนั้นต้องตีไปในส่วนที่ไม่เป็นอันตราย
  5. หากฝูงชนไม่มีทีท่าจะสลายไป ต้องมีการประกาศเตือนถึงการใช้อาวุธปืนด้วยกระสุน ตาข่ายและกระสุนยาง ตามลำดับอย่างชัดเจน และต้องใช้เวลากับผู้ชุมนุมด้วยในการตัดสินใจสลายการชุมนุม
  6. หากสถานการณ์ยังไม่ดี และคาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็อาจสามารถประกาศว่าเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะใช้กระสุนจริง แต่ต้องตระหนักถึงว่ากระสุนจริงนั้นจะไม่ใช้ จนกว่าจะเป็นการป้องกันตัวหรือป้องกันชีวิตผู้อื่นอันเป็นอันตรายที่จวนตัวมากจริง ๆ เท่านั้น และเจ้าหน้าที่จะต้องพยายามที่จะรักษาระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้ชุมนุมที่ถือที่มีความปลอดภัย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันฝูงชนที่อาจจะไหลทะลักที่จะเข้ามาในเขตของเจ้าหน้าที่และทำให้ระยะห่างนั้นน้อยลง อันอาจส่งผลเป็นการอันตรายได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องยิงจริง ๆการยิงควรเป็นการเล็งยิงในที่ต่ำ และเป็นการเล็งยิงไปในส่วนของฝูงชนที่มีลักษณะของการใช้ความรุนแรงมากที่สุดเท่านั้น

  1. แผนกปฐมพยาบาลจะต้องเตรียมการไว้เสมอเพื่อนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ลำดับขั้นตอนตั้งแต่ 1-6 ต้องมีการประกาศเตือนเสมอ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงเห็นได้ว่าการสลายการชุมนุมที่แท้จริงและถูกต้องตามหลักสากลควรเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ตามที่มาของข้อมูลนะครับ

-----------

ที่มา

https://ilaw.or.th/node/5765

www.ohchr.org/Documents/HRBodies/CCPR/LLW_Guidance.pdf

www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/34/iid/1410