‘วิกฤติโควิด’ กับความหวังต่อ ‘ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล’
เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้วหลังจากการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด ที่มี "ทีมเศรษฐกิจ" ทีมใหม่เข้ามาทำงาน ขับเคลื่อนและวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
เป็นหนึ่งปีที่เรามีรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ชื่อ“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”เข้ามาทำงานในตำแหน่ง เป็นหนึ่งปีที่ได้เห็นการทำงานของ“ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล”ชุดปัจจุบันที่เป็นส่วนผสมของนักธุรกิจเอกชน ข้าราชการประจำ และอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ
“พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหารือกับทีมเศรษฐกิจอยู่เสมอ รายชื่อตามหน้าสื่อนอกจากรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ยังมี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ขณะที่ฝั่งเอกชนมีชื่อของ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง
ในระยะแรกของการทำงานประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดีนโยบายที่ออกมาเป็นไปในทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นนโยบายคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกันที่ปรึกษาของรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ มล.ชโยทิต กฤดากร ชงแผนดึงนักลงทุนและผู้เกษียณอายุรายได้สูงเข้ามาลงทุนจับจ่ายในประเทศไทยโดยตั้งเป้า 1 ล้านคนในปี 64
แม้ประเทศไทยจะเจอโควิดระลอก 2 ในเดือน ธ.ค.ปีก่อนแต่การควบคุมการระบาดได้เร็ว ทำให้รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 4% แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดตั้งแต่ระลอกเดือน เม.ย.การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน ทำให้ภาพของเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง
จากที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 4% เหลือแค่ประคองให้เศรษฐกิจพอที่จะขยายตัวได้ โชคดีที่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ภาคการส่งออกในปีนี้จึงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ล่าสุด “สภาพัฒน์”ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เหลือขยายตัวได้ 0.7 – 1.2% เท่านั้นขณะที่เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ บอกว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิด“หลุมดำรายได้”ขนาดใหญ่รายได้หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงและต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้
ในภาวะเช่นนี้บทบาทของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนับว่ามีความสำคัญทั้งต่อการแก้ปัญหาระยะสั้นและการวางทิศทางประเทศในระยะยาว
ในระยะสั้นนอกจากมาตรการเยียวยาที่ออกไปแล้ว เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่เศรษฐกิจ“มาตรการ”ที่จะเข้ามาเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้นับว่าสำคัญมาก การช่วยเหลือเอสเอ็มอี มาตรการพยุงการจ้างงาน สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนรวมทั้งการเติมสภาพคล่องที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจขนาดเล็กยังประคองตัวอยู่ได้ล้วนแต่มีความจำเป็น
ในช่วงที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับเกือบหมด การใช้จ่ายภาครัฐเป็นส่วนสำคัญบทบาทของรองนายกฯเศรษฐกิจที่ต้องลงไปไล่จี้กำกับเร่งรัดการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดก็ต้องทำเช่นกัน
ส่วนในระยะยาวเราหวังให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลทำหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศในอนาคต
การดึงดูดการลงทุนสาขาเป้าหมายการปรับตัวของภาคการท่องเที่ยวไปสู่คุณภาพทั้งหมดต้องมีแผนขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องรอโควิดคลี่คลายแต่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ทันท่วงที
ในการทำงานร่วมกันของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆก็ต้องมีเอกภาพ เช่นจะทำงานอย่างไรกับแบงก์ชาติ เพื่อให้นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน
ที่สำคัญการสื่อสารเกี่ยวกับ “งาน”ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังทำอยู่ให้สาธารณะชนได้รับทราบก็จะช่วยสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้ในที่สุด