E-Commerce แห่งชาติ ไม่เพียงแค่เพิ่มมูลค่า...
รอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย หรือE-Commerce แห่งชาติ ไม่เพียงแค่เพิ่มมูลค่า ต้องส่งเสริมความเป็นธรรมทางการค้าด้วย
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2565) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย
แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ มีเป้าหมาย คือ 1.เพิ่มมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 2565 2.เพิ่มมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ (SMEs) เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ในช่วงปี 2564-2565 3.เพิ่มมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Outbound Cross Border เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ในช่วงปี 2564-2565 4.บูรณาการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน 5.จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย
ที่ประชุมยังให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงกับบริการของรัฐแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามได้สะดวก ไม่ซ้ำซ้อน และมีภาระการดำเนินการน้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยุติข้อร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคได้รวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการประกอบธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
E-Commerce แห่งชาติ มุ่งหวังเพียงแค่เพิ่มมูลค่าซื้อ-ขาย
เทคโนโลยีในปัจจุบันส่งผลให้รูปแบบการขายซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยียังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อแล้วยังส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจการค้าขยายวงกว้างและซับซ้อนมากขึ้น จากรูปแบบการค้าเดิมที่มีลักษณะเป็นเส้นตรง กล่าวคือ ลูกค้า (Consumers) เลือกซื้อสินค้าจากร้านขายปลีก (Retailers) ที่รับสินค้ามาจากผู้กระจายสินค้า (Distributors) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากโรงงานผู้ผลิต (Manufacturer) แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงจากเส้นตรง เป็นห่วงโซ่อุปทานที่มีลักษณะแบบ networking เนื่องจากลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อจากร้านค้าปลีกเท่านั้น หรือโรงงานผู้ผลิตก็สามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านช่องทางการขายออนไลน์ (e-Marketplace) ด้วยการส่งสินค้าผ่านธุรกิจบริการส่งพัสดุ (Delivery Service Providers) และรับชำระเงินผ่านธุรกิจรับชำระเงินออนไลน์ (e-Payment Providers) เป็นต้น
E-Commerce แห่งชาติ ควรครอบคลุมห่วงโซ่จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
E-Commerce ก่อให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องใหม่ ๆ ขึ้นใน Supply Chain ภาคการค้า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่นำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เริ่มต้นจาก 1.ธุรกิจ e-marketplace platform ที่ทำหน้าที่เสมือนตลาดออนไลน์ให้ผู้ขายมาใช้พื้นที่วางขายสินค้า โดย e-marketplace จะดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าในตลาดนี้ 2.ธุรกิจ fulfillment ที่ให้บริการคลังสินค้าและจัดส่ง หรือทำหน้าที่ “เก็บ แพค ส่ง”3.ธุรกิจเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้า 4.ธุรกิจพัฒนาระบบซอฟแวร์สำหรับบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ 5.ธุรกิจ E-payment 6.ธุรกิจช่วยทำการตลาดให้การขายสินค้าออนไลน์ (affiliate marketing) และ 7.ธุรกิจ e-Commerce Enabler ที่ช่วยผู้ขายออนไลน์แบบครบวงจรตั้งแต่สร้างเว็บไซต์ ทำการตลาดเก็บและจัดส่งสินค้า
นอกจากนี้ เครือข่ายความสัมพันธ์ตลอดห่วงโซ่อุปทานจะยังทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคตทั้งประโยชน์จากการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง และการแบ่งงานตามความถนัดของภาคธุรกิจแต่ละประเภท ซึ่งย่อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจโดยรวมให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งขอบเขตของธุรกิจอาจแคบลงแต่มีความลึกขึ้น
กฎหมาย E-Commerce ต้องส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
จากแนวทางที่ประชุม ครม. ไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย E-Commerce เพียงแค่อำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามได้โดยสะดวก ไม่ซ้ำซ้อน และมีภาระการดำเนินการน้อยที่สุด และพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยุติข้อร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการประกอบธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
จะเห็นได้ว่า กรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการออกกฎหมายที่คุ้มครองผู้ประกอบการและผู้บริโภคในตลาดออนไลน์เป็นการเฉพาะ ทั้งด้านการทำธุรกรรม และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และประเด็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ภาครัฐมุ่งเพียงต้องการส่งเสริมให้ตลาด E-Commerce เติบโตมากขึ้น โดยไม่สนใจการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะ ประเด็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศ กับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีความไม่เป็นธรรมในด้านภาษี เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเรื่องการตั้งราคาขายที่มีต่ำกว่า โดยแนวทางการกำกับดูแลที่ต่างประเทศนำมาใช้และได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การจัดเก็บภาษีผ่านบริษัทแม่ข่ายที่ต้องจัดตั้งภายในประเทศ หรือการจัดเก็บผ่านตัวกลางทางการเงิน
กฎหมาย E-Commerce ควรมุ่งกำกับการผูกขาดในแนวดิ่งที่จะส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเสียหายในระยะยาว ขณะที่ E-Commerce หมายถึง กิจการ-กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขาย แต่ธุรกรรมต่าง ๆ ของกระบวนการ E-Business นับจากต้นน้ำสู่กลางน้ำจนถึงมือผู้บริโภคปลายน้ำ มีมากมายหลากหลายธุรกิจและเป็นจำนวนมาก ความพยายามที่ผู้ประกอบ E-Commerce ที่เป็นเจ้าของ แพลตฟอร์มของต่างประเทศ พยายามขยายขอบข่ายธุรกิจโดยการควบรวมกิจการที่เกี่ยวข้องในแนวดิ่ง นับตั้งแต่ ธุรกรรมทางการเงิน การขนส่ง และการจัดจำหน่ายเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดในการทำธุรกิจ เกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ที่ผู้ประกอบภายในประเทศอาจจะถูกกดดันให้ต้องออกจากธุรกิจเพราะด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ยากกว่าการแข่งขันได้
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการที่ภาครัฐควรสนับสนุนต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ได้แก่ การกำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนในการยกระดับกระบวนการผลิตและจัดจำหน่าย สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาตราสินค้า และกระบวนการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคด้านคุณภาพ สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป และภาคการตลาดการจำหน่าย ตลอดจนสร้างรายได้แก่ชุมชนให้พึ่งตนเองได้