ความสำเร็จในการดูแลคนจนในช่วงโควิด-19 ในมุมมองของธนาคารโลก
บทความนี้เขียนจากหลักฐานเชิงประจักษ์ อ้างอิงข้อมูล World Bank ที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษา เฝ้ามอง คาดการณ์และวิเคราะห์นโยบายแก้ความยากจน
บทความนี้ผมจะพยายามถ่ายทอดสาระสำคัญที่อยู่ในรายงาน Thailand Economics Monitor, the road to recovery ในส่วนที่ว่าด้วย Protecting Poor and Vulnerable Household ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และเขียนวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลและการคาดการณ์จำนวนคนจนของไทยเอาไว้ละเอียดยิบ ทีมงาน Data Innovation ของผมจึงช่วยกันอ่านและถอดบทเรียนออกมาเล่าสู่กันฟัง
ปูพื้นกันก่อนว่า ตัวเลขจำนวนคนจนที่เป็นทางการล่าสุดที่มี ณ ขณะนี้ คือตัวเลข ณ สิ้นปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่นำตัวเลขการสำรวจจำนวนคนจนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาใช้ พบว่า ณ สิ้นปี 2562 ประเทศไทยมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.2% ของจำนวนประชากร
ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความเป็นจริงพอสมควร เพราะเป็นการสำรวจแบบสุ่ม ไม่ได้ลงทะเบียนนับรายคน แต่เอาหละ ไม่ใช่ประเด็นวันนี้ วันนี้ผมจะลองเอาสิ่งที่ธนาคารโลกเขียนในรายงานฉบับนี้มาสรุปให้ฟัง
ประเด็นที่ 1 ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย คนที่ยิ่งมีรายได้น้อยจะยิ่งสูญเสียรายได้มาก
โควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้างทุกสาขาอาชีพ ทุกพื้นที่ และลงลึกไปถึงระดับบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซี่งมีกำลังใช้จ่ายได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั่วไปอยู่ที่ 9 เดือน ธนาคารโลกแบ่งกลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ คนที่มีรายได้ระหว่าง 0 – 5,000 บาท จะสูญเสียรายได้ถึง 63% คนที่มีรายได้ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท จะสูญเสียรายได้ 57.4% ในขณะที่คนที่มีรายได้ระหว่าง 15,000 – 30,000 บาท เสียรายได้เพียง 37.7% ดังนั้น ในแง่การสูญเสียรายได้ พบว่า คนที่ยิ่งมีรายได้น้อย จะยิ่งสูญเสียรายได้มาก
ประเด็นที่ 2 ธนาคารโลกชี้รัฐบาลไทยใช้เงินอัดเพิ่มเข้าไปราว ๆ 2.5% ของ GDP ในปี 2563 และอีก 1.5% ของ GDP ในปี 2564 เพื่อสู้กับโควิด 19
รัฐบาลได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหลายโครงการ ได้แก่ เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเกษตรกร เยียวยากลุ่มเปราะบาง เยียวยาผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในปี 2563 มีการใช้เม็ดเงินช่วยเหลือในโครงการข้างต้นสูงถึง 3.87 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ของ GDP ส่วนในปี 2564 รัฐบาลอัดเม็ดเงินผ่านโครงการคนละครึ่ง เราชนะ เบี้ยคนพิการ และวงเงินเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกเกือบ ๆ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของ GDP เมื่อรวมกับงบประมาณด้านสังคมสงเคราะห์ปกติในแต่ละปีงบประมาณ ทำให้ทั้งปี 2563 และ 2564 มีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปต่อสู่กับโควิด 19 ประมาณ 3.2% และ 2.3% ของ GDP ตามลำดับ เทียบกับปี 2562 ก่อมีโควิด 19 ที่มีเม็ดเงินด้านนี้เพียง 0.8% ของ GDP เท่านั้น
ประเด็นที่ 3 ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินมาตรการ Cash Transfer ที่มีความครอบคลุมกลุ่มประชากรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ธนาคารโลกทำการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบเรื่องความครอบคลุมของการดำเนินมาตรการการให้เงินช่วยเหลือ (Cash Transfer) ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง พบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินมาตรการ Cash Transfer ที่มีความครอบคลุมกลุ่มประชากรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเมื่อรวมความช่วยเหลือที่ประชาชนได้รับจากประกันสังคมด้วยแล้ว ในปี 2563 พบว่ามีประชาชนกว่า 44 ล้านคน จากประชากรกว่า 66 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือไม่ว่าจะในรูปแบบประกันสังคม หรือความช่วยเหลือทางสังคม หรือหากมองในด้านครัวเรือนแล้วพบว่า 80% ของครัวเรือนในประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ
ประเด็นที่ 4 การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทำให้สัดส่วนคนจน (Poverty rate) ลดลงจาก 6.2% ในปีก่อนโควิด 19 มาอยู่ที่ 6.0% และ 5.6% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ
การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ความยากจนในประเทศไทยลดลง สะท้อนจากสัดส่วนคนจน (Poverty rate) ปรับตัวลดลงจาก 6.2% ในปี 2562 มาอยู่ที่ 6.0% และ 5.6% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ หลังจากมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยา แต่ถ้าหากรัฐบาลอยู่เฉย ๆ ไม่ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอะไรเลย สัดส่วนคนจนจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.4% และ 7.0% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ เท่ากับถอยหลังไป 6 – 7 ปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าว เป็นคำนวณจาก Macro-micro Simulation Model ของธนาคารโลก ในประเด็นนี้ส่วนตัวผมมองว่า แม้เราจะมีเม็ดเงินเยียวยาเยอะจริง แต่น่าจะแค่พยุงไม่ให้จำนวนคนจนพุ่งมากขึ้นเหมือนวิกฤติครั้งก่อน ๆ ไม่น่าจะทำให้จำนวนคนจนลดลงชัดเจนขนาดนี้
ประเด็นที่ 5 ธนาคารโลกได้ชื่นชมถึงการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยในการลงทะเบียน ตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูลต่าง ๆ และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
การลงทะเบียนในโครงการต่าง ๆ มีการนำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ มีการรวบรวมข้อมูลขึ้นใหม่ มีการตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ได้ฐานข้อมูลที่กว้างขวางและแม่นยำ เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับความประสงค์ของโครงการมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งจะเห็นว่าโครงการทั้งหมดของรัฐบาลโดยเฉพาะของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด 19 ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และชิมช้อปใช้ และหลังโควิด 19 ได้แก่ เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราชนะ เป็นโครงการที่ต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน รับรองความถูกต้อง และยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูล เพราะต้องการความถูกต้องแม่นยำ และผลักดันให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย ถูกต้อง ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ชื่นชมอีกว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ยังส่งผลให้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถส่งผ่านความช่วยเหลือถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือรายใหม่ได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่เดือนหลังมีการล็อกดาวน์
มุมมองของธนาคารโลกจึงเป็นมุมมองที่แจ่มชัด เป็นกลาง และน่าเชื่อถือที่สุดหน่วยงานหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูตัวเลขจำนวนคนจนที่เป็นตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์ฯ ที่กำลังจะออกมาอีกไม่นานนี้ มาลุ้นกันครับ.