ต่างมุมมอง… รู้เท่าทันโควิด-19
ต่างมุมมอง… รู้เท่าทันโควิด-19 บทความจากมหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะให้ความกระจ่างว่าทำไมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงแสดงอาการไม่เท่ากัน ทำไมฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ และระบบภูมิคุ้มกันมีผลอย่างไรต่ออาการ เป็นต้น
จากประเด็นข้อสงสัย... ทำไมคนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จึงมีอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน... ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ(ต่างมุมมอง) อย่างกระชับ เพื่อหวังสร้างความเข้าใจอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด โดยมีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องเข้าไปในเซลล์ในร่างกายที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวน โดยเซลล์นั้นๆต้องมีสารทางชีวภาพบนผิวเซลล์ เช่น ACE-2 และ TMPRSS2 ให้เชื้อเข้าจับเกาะและแทรกเข้าไปในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ต่อไป ประเด็นสำคัญก็คือว่าสารชีวภาพเหล่านี้มีลักษณะผันแปรหลากหลายแตกต่างตามพันธุกรรมของแต่ละคน
คนที่มี ACE-2, TMPRSS2, ฯลฯ ที่มีลักษณะเหมาะสมเท่านั้นที่เชื้อโควิด-19 สามารถจับเกาะเพื่อเข้าไปในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ ขณะที่คนที่มีลักษณะสารชีวภาพเหล่านี้ไม่เหมาะสม เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าจับเกาะเข้าเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ ดังนั้น เมื่อเราแต่ละคนได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือตรวจพบเชื้อไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนมีการติดเชื้อเสมอไป
เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจะกระตุ้นเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างสารต่างๆ หลายชนิดที่เรียกรวมๆ ว่าไซโตไคน์เพื่อต่อต้านแต่ขณะเดียวกันก็กลับทำความเสียหายต่ออวัยวะนั้นๆ ด้วย จนทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะล้มเหลวโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ (ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง)
ปกติแล้วเมื่อร่างกายได้รับเชื้อใดๆ ก็ตามจะมีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องมี “สาร HLAs หรือสารพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน” มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เมื่อเชื้อโควิด-19 เข้ามาในร่างกายก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนสามารถตอบสนองต่อเชื้อไวรัสได้
การกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า “ทีเซลล์” (ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการกำจัดเซลล์ติดเชื้อไวรัส) จำเป็นต้องมีโมเลกุล HLAs ชนิดที่เหมาะสม โดย HLAs ก็มีความหลากหลายสูงมากเช่นกัน (ทั้งนี้ โอกาสที่แต่ละคนจะมีสาร HLAs เหมือนกันมีน้อยมากโดยมักพบได้จากคนที่เป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน)
การที่เราแต่ละคนมีสาร HLAs ที่แตกต่างกันจึงทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ขึ้นกับความจำเพาะของไวรัสโควิด-19 กับชนิดของ HLAs ในแต่ละคนว่าจะรวมตัวกันได้หรือไม่เพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาว “ทีเซลล์” ให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
จากที่กล่าว จึงทำให้สามารถแยกผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็น 4 กลุ่ม ดังแสดงในตาราง คือ
หมายเหตุ เครื่องหมาย + หมายถึงคนนั้นมีสารที่เหมาะสม, เครื่องหมาย - หมายถึงสารของคนนั้นไม่เหมาะสม
(*) สาเหตุที่กลุ่ม 3 และ 4 มีอาการได้เล็กน้อยเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งเข้าไปจับกินเชื้อเพื่อส่งผ่านการทำงานไปสู่เซลล์เม็ดเลือดขาว “ทีเซลล์” ให้สร้างภูมิคุ้มกันและมีการสร้างสารไซโตไคน์ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้บ้างที่มักคล้ายหวัด แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไม่ได้เพิ่มจำนวนอย่างมีนัยสำคัญจึงไม่เกิดอาการรุนแรงอย่างกลุ่มที่ 1 และ 2
ด้วยเหตุผลและความเห็นทางวิชาการที่กล่าวมานี้จึงอธิบายได้ว่าทำไมเราแต่ละคนจึงมีอาการแตกต่าง รวมทั้งกรณีที่ตรวจพบเชื้อในผู้ที่รับวัคซีนครบแล้ว อีกประเด็นที่ควรตระหนักถึงอย่างมากเช่นกันคือความคิดเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาชนิดต่างๆ ที่มีการใช้กันอยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าได้มีการใช้ยาชนิดนั้นๆ กับผู้ได้รับเชื้อกลุ่มใด
การศึกษาประสิทธิผลของยาใดๆ ควรต้องเลือกใช้กับผู้ที่ติดเชื้อในกลุ่มที่ 2 เท่านั้น จึงจะทำให้ประเมินประสิทธิผลของยาได้อย่างแท้จริงและทำให้เราสามารถดำเนินการเพื่อสร้างระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโรคระบาดไวรัสอื่นๆ ที่อาจระบาดใหม่ได้อีกในอนาคต อย่างแท้จริง.