ทางเท้าเล่าความจริง
คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 26 พ.ย. 2553 พิมพ์บทความเรื่อง “ปฏิรูปทางเท้าเพื่อความก้าวหน้าแบบสมดุล” ซึ่งอ้างถึงสภาพของทางเท้าในหลายประเทศและสรุปว่า สภาพของทางเท้าเป็นดัชนีชี้วัดแบบคร่าว ๆ สำหรับระดับการพัฒนา
ในประเทศที่พัฒนาจนก้าวหน้ามาก ทางเท้าจะอยู่ในสภาพดี ทั้งในด้านคุณภาพของการออกแบบและการก่อสร้างและในด้านการดูแลรักษาและการใช้ ส่วนในประเทศด้อยพัฒนา หรือล้าหลัง ทางเท้าจะไม่อยู่ในสภาพดีเช่นนั้นทั้งที่ความสามารถในการสร้างทางเท้าและรักษาให้ดีน่าจะมีอยู่ในทุกประเทศแล้ว
สำหรับในเมืองไทย บทความ “ปฏิรูปทางเท้าเพื่อความก้าวหน้าแบบสมดุล” อ้างถึงสภาพของทางเท้าในเทศบาลเมืองอุบลฯ และลพบุรีซึ่งมีลักษณะของ “ความด้อยพัฒนา” ในด้านการก่อสร้างและในการใช้ พร้อมกันนั้น บทความอ้างถึงเรื่องที่มักมีผู้ชี้ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาในกรณีของเมืองไทยได้แก่ผู้กำอำนาจในเทศบาลมักทำกิจการก่อสร้าง
อนึ่ง ย้อนไปในช่วงเวลานั้น อาจจำกันได้ว่า มีผู้สนใจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพบว่าผู้ทำกิจการก่อสร้างมีสัดส่วนสูงกว่าอาชีพอื่น ในสภาฯ ปัจจุบัน ข้อมูลจะชี้ให้เห็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ดูจะยังไม่มีใครนำมาเสนอ ผู้สันทัดกรณีมักมีความเห็นว่า ผู้ทำกิจการก่อสร้างสนใจเข้าเป็นสมาชิกสภาฯ มิใช่เพราะความตั้งใจที่จะใช้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเพื่อช่วยกันสร้างชาติ หากตั้งใจจะใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์รวมทั้งเงินทอนจากโครงการของรัฐ จริงเท็จอย่างไรดูจะยังไม่มีใครกล้ายืนยัน
ทั้งที่พิมพ์มากว่า 10 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้อ้างถึงบทความดังกล่าวอีกพร้อมกับส่งเรื่องราวของเขากับภาพประกอบไปให้ผม ภาพเหล่านั้นยืนยันประเด็นใหญ่ในบทความรวมทั้งทางเท้ามีเสาตั้งขวางอยู่ตรงกลาง ทางเท้าชำรุด หรือถูกขุดเป็นหลุมลึกทิ้งไว้ และทางเท้าถูกขวางด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งการวางสินค้าและรถยนต์ ภาพเหล่านั้นถ่ายในเขตกรุงเทพฯ
เขาเล่าว่า เขาพยายามทำตามคำแนะนำของเทศบาล นั่นคือ โทรศัพท์ไปบอกสำนักงานเทศบาลในย่านที่เขาพบการกระทำความผิด เมื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาจึงแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานใหญ่ของเทศบาล กทม. แต่เรื่องก็เงียบหายไป เขาจึงใช้วิธีโวยวายผ่านสื่อสังคม ปรากฏว่าได้ผล แต่ก็ได้เพียงชั่วแล่น
ในช่วงเวลานั้น เขาได้รับการติดต่อจากเทศบาลว่า ถ้าเขาประสงค์จะรับ “รางวัลนำจับ” ให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาและหลักฐานการทำผิดกฏระเบียบทางเท้าไปให้เทศบาล เขาบ่นส่งท้ายไปในสารเล่าเรื่องราวของเขาว่า เขาไม่ต้องการรางวัล หากต้องการให้เทศบาลแก้ปัญหาแบบถาวร มิใช่แบบถูกโวยวายออกสื่อสังคมครั้งหนึ่งก็มาไล่ผู้ทำผิดครั้งหนึ่ง
สำหรับการจอดรถยนต์บนทางเท้า เขาเสนอว่าจะแก้ปัญหาได้มากหากกฎหมายอนุญาตให้ผู้พบเห็นทุบรถนั้นได้ แม้เขาจะมิได้อ้างถึง แต่ฐานของการเสนอเช่นนั้นคงเป็นคดีที่เจ้าของบ้านทุบรถกระบะที่จอดขวางทางเข้าบ้านของเขา
ในช่วงเวลา 10 ปีกว่าที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าเมืองไทยยังก้าวหน้าไปตามสมัยหากวัดกันตามการมีเครื่องมือเครื่องใช้ร่วมสมัยจำพวกโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดและอาคารร้านค้าทั้งจำพวกใหญ่โตโอ่อ่าและจำพวกที่กระจายไปทั่วทุกหัวเมืองในรูปของร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
ท่ามกลางความก้าวหน้าไปตามสมัยเช่นเดียวกับประเทสก้าวหน้าทั้งหลายนั้น เรื่องการสร้างและใช้ทางเท้าไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าดีขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยจึงยังตกอยู่ในสภาวะเดิม นั่นคือ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา”
อย่างไรก็ตาม เมืองไทยไม่โดดเดี่ยวที่ยังตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมดก็เช่นกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้แก่ ความมักง่ายที่นำไปสู่ความฉ้อฉลของคนกำอำนาจรัฐและความไร้วินัยของการใช้ทางเท้า
ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่แก้สภาวะนี้ได้ดีคือ เกาหลีใต้ ซึ่งใช้วิธีลงโทษหนักแบบไม่ไว้หน้าไม่ว่าจะเป็นคนกำอำนาจรัฐในระดับประธานาธิบดีที่ฉ้อฉลหรือประชาชนที่ขาดวินัย ประเทศที่มีทีท่าว่าจะทำได้ในลำดับต่อไปคือจีน ส่วนไทยจะทำได้เมื่อไรยังไร้วี่แวว.