โควิด-19 & น้ำท่วม กับการช่วยเหลือแบบยิงตรงกลุ่มเป้าหมาย
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า 2 อย่าง ได้แก่ โควิด-19 และน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ในส่วนของโควิด-19 นั้น หากยึดตามราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม พบว่า มีจังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม 29 จังหวัด สีแดง 37 จังหวัด และสีส้ม 11 จังหวัด ตามที่พวกเราทราบกันอยู่แล้วนั้น ผ่านมา 2 เดือน จำนวนจังหวัดในสีแดงเข้ม สีแดง และสีส้มยังไม่เปลี่ยนแปลง
ในเรื่องของน้ำท่วมนั้น ผมเริ่มเขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเกาะติดสถานการณ์แบบวันต่อวัน
พบว่า มีจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้วจำนวน 32 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก กําแพงเพชร บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี และปราจีนบุรี
ส่วนอีก 16 จังหวัด ยังท่วมอยู่ ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ใน 16 จังหวัดนี้ จังหวัดที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่นและอ่างทอง
ในเชิงเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจังหวัด ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอย่างภาคการเกษตร ส่วนภาคการค้าการขาย คมนาคมขนส่ง และที่พักแรมและร้านอาหาร น่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะได้ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ภาคอุตสาหกรรม น่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดเพราะจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรมเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมีเพียงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น อีกทั้ง โรงงานอุตสาหกรรมสำคัญๆ จะอยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และในพื้นที่ EEC ซึ่งยังไม่มีรายงานน้ำทวม
เครื่องชี้สำคัญที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด คือ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและรายได้เกษตรกร แต่ที่จะกระทบต่อพี่น้องประชาชนมากก็คือ ความเสียหายของที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านและยานพาหนะ
แต่หากปริมาณน้ำเคลื่อนตัวลงมา “พื้นที่ไข่แดง” คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี (ท่วมแล้ว) นนทบุรี และสมุทรปราการ รวม 4 จังหวัด ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะพื้นที่ไข่แดงภาคการค้าการขาย คมนาคมขนส่ง ที่พักแรมและร้านอาหาร และภาคอุตสาหกรรม ที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดรวมกัน กระจุกตัวอยู่ในไข่แดงนี้อย่างชัดเจน
โดยภาคการค้าการขาย 57.3% ของการค้าขายทั้งประเทศ คมนาคมขนส่ง 61.9% ของคมนาคมขนส่งทั้งประเทศ ที่พักแรมและร้านอาหาร 58.3% ของที่พักแรมและร้านอาหารทั้งประเทศ และภาคอุตสาหกรรม 25.0% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ที่สำคัญพื้นที่ไข่แดงยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้มโควิด-19 อีกด้วย
ในเชิงกลุ่มเป้าหมาย โควิด-19 และน้ำท่วม จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เช่น ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร แรงงานในระบบประกันสังคม นอกระบบประกันสังคม ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ธุรกิจส่วนตัว พ่อค้าแม่ค้า ร้านรวงต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กแรกเกิด ปัญหาที่กระทบต่อประชาชนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากจังหวัดนั้น เจอวิกฤติ 2 ด้านทั้งคิวิด-19 และน้ำท่วมพร้อมๆ กัน
จากภาพนี้ ผมลองทำเป็นตาราง “ความเสี่ยง 2 มิติ (Risk Matrix)” ด้านหนึ่งคือโควิด-19 และอีกด้านคือ น้ำท่วม แต่ละด้านมีความรุนแรง 3 ระดับ เราจะคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 77 จังหวัดได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ในแต่ละกล่องสี
1) กล่องสีแดง สถานการณ์รุนแรงที่สุด เพราะเจอ 2 ปัญหาหนัก ๆ พร้อม ๆ กัน มี 8 จังหวัด
2) กล่องสีส้ม ก็หนักแต่น้อยกว่า มี 12 จังหวัด
3) กล่องสีเหลืองเข้ม ก็กลางๆ มี 12 จังหวัด กล่องสีเหลืองอ่อนจะเบาหน่อย มี 34 จังหวัด ส่วนกล่องสีเขียวเบาสุด เพราะเจอปัญหาแค่ด้านเดียว มี 11 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จังหวัดอาจมีการย้ายกล่องได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
โชคดีที่เรามีข้อมูลของประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเราตั้งต้นจากการบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เราจะได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบทั้ง 7 กล่องสีข้างต้น เป็นรายบุคคล แล้วนำมาจัดสูตรความช่วยเหลือร่วมกันแบบ “ถูกฝาถูกตัว ถูกที่ ถูกเวลา”
แต่ละกล่องสีอาจได้รับความช่วยเหลือในอัตราที่แตกต่างกัน ส่งเงินช่วยเหลือเยียวยาถึงตัวคนได้ทันที ด้วยเครื่องมือที่รัฐบาลมี เช่น พร้อมเพย์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอพลิเคชันเป๋าตัง แอพลิเคชันถุงเงิน G-Wallet เป็นต้น และที่สำคัญเราสามารถคำนวณเม็ดเงินงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการเยียวยาได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
ท้ายสุด ก็หวังว่าทั้ง 77 จังหวัดจะย้ายไปอยู่รวมกันในกล่องเขียวได้ในเร็ววัน เราจะได้เดินหน้าต่อ.
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)