“เมิ่ง หว่านโจว” กับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ | สิริลักษณา คอมันตร์

“เมิ่ง หว่านโจว” กับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ | สิริลักษณา คอมันตร์

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในโลกรายงานว่า “เมิ่ง หว่านโจว” ลูกสาวท่านประธานใหญ่ของหัวเว่ย ได้รับการปล่อยตัวจากการคุมตัวกักบริเวณที่ประเทศแคนาดา บินกลับประเทศจีนแล้ว

“เมิ่ง หว่านโจว” (Meng Wanzhou) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ถูกคุมตัวอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็นเวลากว่า 1,000 วัน การคุมตัวนั้นเป็นไปตามคำขอของสหรัฐ ซึ่งต่อมาก็ได้ถอนคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ส่งไปยังรัฐบาลแคนาดาแล้ว 
    เรื่องนี้และอีกหลายๆเรื่อง ทำให้นึกบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ ว่า SLABA หรือ Strategic Legal Action for Business Advantage ซึ่งล้อตามคำว่า SLAPP ที่ย่อมาจาก Strategic Lawsuits Against Public Participation ซึ่ง SLAPP หมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์แบบไม่มีมูลเหตุ 
    มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะนักข่าวและนักวิชาการ ในลักษณะการฟ้องปิดปาก อาศัยกฎหมายคุกคามผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นสาธารณประโยชน์ การฟ้องปิดปากในประเทศไทย มักจะเป็นคดีหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท ส่วนใหญ่คดีจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น จำเลยมักเลือกที่จะยอมความ ยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ รับว่ากระทำความผิด ชดใช้ค่าเสียหาย ลงแจ้งความขอโทษในสื่อ หรือ ลบข้อความที่ถือว่าละเมิดนั้นทิ้งไป
    SLABA ที่บัญญัติใหม่นี้ แตกต่างจาก SLAPP เพราะตั้งใจให้หมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ 

สหรัฐอ้างความชอบธรรม โดยใช้กฎหมายของตนเอง และอ้างอิงหลักการบางประการของกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีของนาง “เมิ่ง หว่านโจว” สหรัฐใช้กฎหมายภายในของตนเอง คือ กฎหมาย 18 U.S.C. 1344 เรื่องการฉ้อโกงธนาคาร (bank fraud) ซึ่งกำหนดความผิดเรื่องการฉ้อโกงสถาบันการเงินหรือได้รับประโยชน์จากสถาบันการเงินโดยการให้ข้อมูลเท็จหรือคำสัญญาที่เป็นเท็จ  

สหรัฐกล่าวหา “เมิ่ง หว่านโจว” ว่านางได้ให้คำยืนยันต่อธนาคาร HSBC ด้วยตนเอง ว่าบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจกับประเทศอิหร่านซึ่งกำลังถูกอเมริกาคว่ำบาตร มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือเป็นบริษัทในเครือของหัวเว่ย 
    นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน Jeffrey Sachs แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ตำหนิรัฐบาลอเมริกันว่าเลือกปฏิบัติต่อนางทั้งๆที่บริษัทอเมริกันหลายบริษัทก็ทำการค้าขายกับอิหร่านโดยตรง ละเมิดกฏหมายของสหรัฐเอง แต่ก็ไม่ถูกดำเนินคดีเช่นนาง
    โดยหลักการแล้ว ในเรื่องเขตอำนาจของรัฐตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การปรับใช้เขตอำนาจของรัฐเหนือการกระทำอาชญากรรมที่กฎหมายระหว่างประเทศรับรอง มีอยู่ 5 ประการ คือ หลักดินแดนหรือสถานที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น (Territoriality Principle) หลักสัญชาติของผู้กระทำความผิด  (Nationality or Active Personality Principle) หลักสัญชาติผู้เสียหาย (Passive Personality Principle) หลักป้องกันความเสียหายแก่ผลประโยชน์ภายในของรัฐ ความมั่นคงภายในของรัฐ  หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติของผู้กระทำความผิด (Protective Principle) 
    และหลักสากล (Universality Principle) ซึ่งหมายถึงกรณีการกระทำความผิดที่ร้ายแรงมีผลกระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล เช่น การค้าทาส (slave trading) การกระทำอันเป็นโจรสลัด (piracy) การทรมาน (torture) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) อาชญากรรมสงคราม (war crimes) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยรวม (crimes against humanity) เป็นต้น 

หลักการเหล่านี้ มีขึ้นสำหรับกรณีที่การกระทำอาชญากรรมนั้นมีรัฐเสียหายหลายประเทศ จึงมีหลักการให้รัฐหนึ่งรัฐใดสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ซึ่งมักใช้ในกรณีความผิดอุกฉกรรจ์
    ลองสมมติเล่นๆ ว่าประเทศไทยมีปัญหาข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านนามสมมติ C แล้วประเทศไทยก็ออกกฏหมายกำหนดให้บุคคลที่ทำธุรกิจกับประเทศ C หรือซื้อสินค้าไทยแล้วนำไปขายต่อให้ประเทศ C ต้องมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งตามกฎหมายไทย โดยออกหมายจับบุคคลหรือตัวแทนนิติบุคคลเหล่านั้น หรือร้องขอรัฐบาลประเทศอื่นให้กักตัวและส่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อกำเนินคดี ผลจะเป็นอย่างไร สงสัยจะโดน “ทัวร์ลง”
     การบังคับใช้กฎหมายของอเมริกานอกอาณาเขตเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศอื่นมาหลายยุคหลายสมัย อาจจำกันได้เรื่องตำนานกุ้งและเต่า ที่อเมริกาห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศไทย ทำให้เสียหายเป็นหมื่นล้าน โดยอาศัยกฎหมาย P.L. 101-162 Section 609 ให้เหตุผลว่าไทยละเมิดกฏหมายสิ่งแวดล้อมอนุรักษ์พันธุ์เต่าของสหรัฐอเมริกา

เพราะการประมงกุ้งไทยเป็นอันตรายต่อเต่าทะเล แม้ว่ากุ้งไทยนั้นเป็นกุ้งเลี้ยงร้อยละ 95 มิได้ใช้เรือประมงออกจับเป็นอันตรายต่อเต่าทะเลแต่อย่างใด กระทรวงเกษตรของเราก็ยังต้องยอมสั่งให้เรือประมงไทยติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อเต่าทะเลหรือทีอีดี Turtle excluder device ตามที่สหรัฐกำหนดอยู่ดี 

ความยุติธรรมกับอำนาจต่อรอง
    เมื่อนาง “เมิ่ง หว่านโจว” ถูกตำรวจแคนาดาจับ จีนก็ตอบโต้ทันทีด้วยการจับชาวแคนาดาสองคนข้อหาจารกรรม และเมื่อนางถูกปล่อยตัวให้กลับประเทศจีนได้ จีนก็ปล่อยตัวชาวแคนาดาสองคนนั้นในวันเดียวกัน เป็นการยื่นหมูยื่นแมว แลกตัวประกันกัน เป็นการต่อรองระหว่างประเทศ หาได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือความยุติธรรมแต่ประการใด 
    แต่ละเหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองโดยแท้ และอำนาจต่อรองจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพลังทางเศรษฐกิจและการเมือง พลังทางการทหาร ขนาดของประเทศในมิติต่างๆในภูมิภาคต่างๆ ชั้นเชิงและข้อมูลความรู้ในการต่อรอง การเป็นพันธมิตรในเวทีโลก ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศด้วย ประเทศจะเสียหายมากน้อยเพียงใดเมื่อมีคดีความระหว่างประเทศหรือการต่อสู้ในอนุญาโตตุลาการต่างๆ ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองแทบทั้งสิ้น 
    กฎหมายอเมริกันมักเปิดโอกาสให้ต่อรองและยอมความในบางเรื่องเพื่อหลีกเลี่ยงคดีที่ใหญ่กว่า โดยอาศัยถ้อยคำที่กำกวม เช่น ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ บางครั้งยอมทำข้อตกลง “ไม่ยอมรับแต่ไม่ปฏิเสธ” (without admitting or denying) ยอมเสียค่าปรับแพ้คดีทางแพ่งเพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องคดีอาญาและเพื่อไม่ให้คดียืดเยื้อ
     เช่น ในกฎหมาย U.S. Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ทางการสหรัฐอาจทำข้อตกลงกับผู้ถูกสอบสวนในลักษณะข้อตกลงรอการดำเนินคดีอาญา (deferred prosecution agreement: DPA) หรือข้อตกลงไม่ดำเนินคดีอาญา (non-prosecution agreement: NPA) เมื่อทำข้อตกลงแล้ว หลักฐานก็จะถูกปิดผนึก (sealed) เป็นอันสิ้นสุดคดี (case closed) น่าสังเกตว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหายอมทำข้อตกลงแล้ว ข้อความว่า “ไม่ยอมรับแต่ไม่ปฏิเสธ” (without admitting or denying) มีความสำคัญยิ่ง คือไม่ยอมรับผิดแต่ก็ไม่คัดค้านโต้แย้ง เหมือนกับการแสดงความรับผิดชอบ (responsibility) แต่ไม่รับผิด (culpability) เรียกว่าถูกผิดไม่สำคัญ

“เมิ่ง หว่านโจว” กับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ | สิริลักษณา คอมันตร์
    ในหลายกรณี เช่น คดีทุจริต ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือการค้าอาวุธ การร่วมมือหรือได้ข้อมูลจากต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้ประเทศไทยดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กรณีเหล่านี้มักมุ่งไปยังตัวบุคคลและมีข้อกล่าวหาและหลักฐานชัดเจน  ในทางกลับกันถ้าหากว่าเป็นอาชญกรรมทางเศรษฐกิจบางกรณี หรือการพาดพิงแบบกำกวม 
    ในฐานะประเทศเล็กที่มีอำนาจต่อรองไม่มาก เราก็ควรจะต้องระมัดระวัง ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและใช้การได้ทันที ไม่กระพือข่าวที่ปราศจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
    การเจรจาต่อรองระหว่างประเทศเปรียบเสมือนเกมหมากรุก จะเดินเกมต่ออย่างไรก็ต้องชั่งน้ำหนักยอมสละตัวเล่นตัวใดเพื่อประโยชน์ที่มากกว่า หรือเมื่อประเทศหนึ่งหรือบริษัทหนึ่งที่กำลังถูกสอบสวนแล้วพาดพิงถึงอีกประเทศหนึ่ง อาจเป็นเพียงการยอมสละเบี้ยเพื่อไม่ให้เสียขุน อย่างเช่นบริษัทโตโยต้ากับผู้พิพากษาไทย  
    ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำถึงขั้นสาหัส การทุจริตรุนแรงมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี คนกระทำความผิดยังลอยนวลและมีที่ยืนในสังคม ประสิทธิภาพการผลิตไม่พัฒนา เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้า ระบบการศึกษาย่ำแย่ ยิ่งทำให้อำนาจการต่อรองในเวทีต่างประเทศลดน้อยถอยลง (และ “เสียค่าโง่” บ่อยๆ)
    ประเทศเล็กที่มีอำนาจต่อรองน้อยจึงต้องแก้ปัญหาภายในอย่างเข้มแข็งอยู่เสมอ พัฒนาขีดความสามารถ สร้างธรรมาภิบาลในทุกๆด้าน รักษาชื่อเสียงของประเทศ จึงจะมีเกราะกำบังไม่ตกเป็นเบี้ยล่าง  ถูกใช้เป็นเบี้ยในการต่อรอง หรือตกเป็นเหยื่อของ SLABA ได้โดยง่าย.