ถอดรหัส “เมิ่ง หว่านโจว” 3 ปีที่จากบ้าน

ถอดรหัส “เมิ่ง หว่านโจว” 3 ปีที่จากบ้าน

เมิ่ง หว่านโจว ประธานคณะเจ้าหน้าที่การเงิน “หัวเว่ย” เดินทางถึงมาตุภูมิแล้วเมื่อวันเสาร์ (25 ก.ย.) ปิดฉากการต่อสู้ยาวนานเกือบ 3 ปี ไม่ให้แคนาดาส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐ

ในวันเดียวกันนั้นชาวแคนาดา 2 คนที่ถูกรัฐบาลปักกิ่งควบคุมตัวนานกว่า 1,000 วันก็ได้กลับบ้านเช่นกัน เป็นไปได้ว่าทั้งสองกรณีเป็นการเปิดทางสู่การปรับสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสองพันธมิตรตะวันตก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมิ่ง หว่านโจว บุตรสาวของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ บรรลุข้อตกลงกับอัยการสหรัฐเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) ยุติคดีฉ้อโกงธนาคาร เธอสามารถเดินทางออกจากแคนาดากลับจีนได้

การต่อสู้คดีของเมิ่งไม่ให้ถูกส่งตัวจากแคนาดาไปดำเนินคดีในสหรัฐ สร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับวอชิงตัน ทางการจีนส่งสัญญาณว่าหากต้องการแก้ปัญหาทางการทูตระหว่างกันก็ต้องยุติคดีนี้

เมื่อเครื่องบินมาถึงเมืองเสิ่นเจิ้นทางภาคใต้ของประเทศ เมิ่งก้าวออกจากเครื่องในชุดสีแดงเพลิงแบบธงชาติจีน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับของมวลชนผู้ห่วงใย

“สุดท้ายฉันก็ได้กลับบ้าน การรอคอยในต่างแดนนั้นช่างเจ็บปวดจริงๆ ฉันพูดไม่ออกเลย ณ วินาทีที่ได้เหยียบแผ่นดินจีน” โกลบอลไทม์ส หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์รายงานคำพูดของเมิ่ง

สื่อรัฐบาลจีนยินดีการกับกลับมาของเมิ่ง แต่ไม่ยอมพูดถึงไมเคิล คอวริก และ ไมเคิล สปาวอร์ ชาวแคนาดาสองคนที่ถูกจับกุมตัวในจีนหลังเมิ่งไม่กี่วัน และได้รับการปล่อยตัวหลังจากปล่อยตัวเมิ่งไม่กี่ชั่วโมง

 หัวเว่ยแถลง “บริษัทตั้งตารอให้นางเมิ่งกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพื่อได้พบกับครอบครัวอีกครั้ง” พร้อมกับแถลงปกป้องตนเองจากข้อกล่าวหาของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่อัยการสหรัฐทำกับลูกสาวหัวเว่ยทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกนักการเมืองสายเหยี่ยวกับจีนวิจารณ์ว่ารัฐบาลของเขาอ่อนข้อให้จีนและบริษัทใหญ่จากแดนมังกร

สมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันบางคนประณามการปล่อยตัวเมิ่งทันที และเรียกร้องให้ทำเนียบขาวมาชี้แจงเรื่องนี้ต่อสภาคองเกรส

“การปล่อยตัวนางเมิ่งก่อให้เกิดคำถามสำคัญต่อความสามารถของประธานาธิบดีไบเดน และความยินดีที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากหัวเว่ยและพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ส.ว.มาร์โก รูบิโอ ระบุในข้อความถึงรอยเตอร์

ส.ว.จิม ริช แถลงว่า ข้อตกลงดังกล่าว “เป็นชัยชนะของระบอบที่โหดร้ายทารุณมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และยิ่งส่งเสริมให้พรรคคอมมิวนิสต์ “ใช้พลเมืองต่างชาติเป็นเบี้ยด้วยรู้ดีกว่าการจับตัวประกันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จได้ในสิ่งที่อยากได้”

แต่นักวิเคราะห์การเมืองชาวจีนจำนวนหนึ่งมองต่าง

“การตกลงปล่อยตัวเมิ่งกลับจีน รัฐบาลไบเดนกำลังส่งสัญญาณว่า รัฐบาลต้องการสะสางความวุ่นวายที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เคยทำไว้” อู๋ ซินโป คณบดีสถาบันการระหว่างประเทศศึกษามหาวิทยาลัยฝูตั้นแสดงทัศนะ

สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน รายงานแถลงการณ์ของเมิ่งที่เขียนขณะบินอยู่เหนือขั้วโลกเหนือเพราะไม่ต้องการผ่านน่านฟ้าสหรัฐ เมิ่งบอกว่า “น้ำตานองเมื่อเธอใกล้จะถึงมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่เข้าไปทุกที”

เมิ่งถูกควบคุมตัวในเดือน ธ.ค.2561 ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตามหมายจับของศาลนิวยอร์ก ที่ระบุว่า เมิ่งพยายามปกปิดการกระทำของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับหัวเว่ย ขายอุปกรณ์ให้อิหร่านละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

นิโคล โบคแมน รักษาการอัยการสหรัฐกล่าวว่า เมิ่งต้องรับผิดชอบในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการสานต่อโครงการตบตาสถาบันการเงินโลก

หัว ชุนอิง โฆษกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า คดีที่เล่นงานเมิ่ง “ถูกสร้างขึ้น” เพื่อกีดกันอุตสาหกรรมไฮเทคของจีน

อีกซีกโลกหนึ่งไมเคิล คอวริกและไมเคิล สปาวอร์ ผู้ถูกทางการจีนจับหลังจากเมิ่งถูกจับไม่กี่วันก็เดินทางไปถึงเมืองคาลการีของแคนาดาเช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดโผเข้าสวมกอด พร้อมทวีตข้อความและรูปภาพขณะต้อนรับสองคนกลับบ้าน

“คุณแสดงความแข็งแกร่ง อดทน มุมานะอย่างไม่น่าเชื่อ ขอให้รู้เถอะว่า ชาวแคนาดาทั่วประเทศจะอยู่ที่นี่เพื่อคุณต่อไป เหมือนอย่างที่พวกเขาเคยทำมาตลอด”

ก่อนได้รับอิสรภาพสปาวอร์ถูกกล่าวหาว่าจัดหาภาพถ่ายอุปกรณ์ทางทหารให้กับคอวริก ต้องโทษจำคุก 11 ปีเมื่อเดือน ส.ค. ส่วนคอวริกยังคงรอการพิจารณาคดี จีนยืนยันว่าไม่ได้ใช้ “การทูตจับตัวประกัน” ที่สองคนนี้ถูกจับไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับคดีของเมิ่ง