ภาพรวมกับรายละเอียด | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
หลายต่อหลายครั้งที่ผมกับเพื่อนร่วมงานต่าง “หัวเสีย” จากการพูดคุยเรื่องเดียวกันแต่ไม่เข้าใจกัน เพราะมองคนละมุม ทุกวันนี้ หลายๆ เทคนิคหรือวิธีในการบริหารจัดการองค์กรมี “ความย้อนแย้งกัน” หรือมี “ความขัดแย้งกัน” เสมอ
ผู้บริหารจำนวนมากนิยมการบริหารจัดการด้วยการยึดมั่นและจับต้องเฉพาะ “ภาพรวม” หรือ “ภาพกว้าง” เป็นหลัก (คือไม่สนใจในรายละเอียด หรือไม่ยอมลงรายละเอียดในงานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตหรือวิธีการทำ) เปรียบเสมือนนั่งเครื่องบินแล้วมองผ่านหน้าต่างลงมาสู่เบื้องล่าง เห็นภาพป่าเขาเป็นทิวแถวยาว แต่ไม่สามารถมองเห็นต้นไม้แต่ละต้น
ความสวยงามของสิ่งที่มองเห็นจากภาพระยะใกล้และภาพระยะไกล จึงให้ความรู้สึกแตกต่างกัน
นักบริหารหลายท่าน จึงพูดอย่างมั่นใจว่า “ผู้นำต้องมุ่งที่ภาพรวม ไม่ใช่สนใจในรายละเอียด” ส่วน “ผู้จัดการจะต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดมากกว่า” พูดง่ายๆว่า ผู้บริหารระดับสูงควรให้ความสำคัญเฉพาะ “ภาพรวม” กว้างๆเท่านั้น โดยไม่ควรเสียเวลากับรายละเอียด แต่ควรปล่อยให้ระดับล่างๆ รับผิดในรายละเอียดต่อไป
การต้องลงลึกในรายละเอียดปลีกย่อยของวิธีปฏิบัติการ หรือ วิธีการแก้ปัญหาจะมีมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับระดับสูงต่ำของตำแหน่งผู้บริหาร คือ ยิ่งระดับล่าง ยิ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับรายละเอียดของงานมากขึ้น
ยิ่งเป็น “หัวหน้างาน” ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับคนงานหรือผู้ปฏิบัติงานด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องรู้ในรายละเอียดของวิธีทำงาน กระบวนการผลิตสินค้าหรือวิธีการให้บริการ คือ หัวหน้างานจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทำงานในรายละเอียดให้มากที่สุด จึงจะสามารถแก้ปัญหาที่ “หน้างาน” ได้ถูกจุดสามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญก็คือ การรู้ในรายละเอียดของวิธีทำงานหรือกรรมวิธีการผลิต จะทำให้สอนงานลูกน้องได้อย่างชัดเจนไม่ผิดพลาด
การอธิบายดังกล่าวข้างต้น ก็มีเหตุผลที่รับฟังได้ โดยหลักการแล้ว ผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูง นอกจากจะต้องมีความสามารถในการ “มองภาพรวม” เพื่อจะได้กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรแล้ว หากเป็นผู้ที่รู้ในรายละเอียดของวิธีการผลิตหรือให้บริการด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีศัพยภาพในการบริหารจัดการที่บรรลุเป้าหมายอย่างได้ผลมากขึ้น
การรู้ในรายละเอียด จะทำให้ผู้นำไม่มองข้ามเรื่องที่สำคัญบางอย่างไป โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของหลายฝ่ายงาน และทำให้สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เอง ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเชื่อมั่น และศรัทธาในตัวผู้นำมากขึ้น ความเป็นผู้นำและการบังคับบัญชาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เข้ากับกรณีที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ได้เลย
แต่น่าเสียดาย ที่พวกเรามักถูกสอนกันมาว่า “เป็นผู้จัดการต้องไม่สันดานเสมียน” คือ เมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว จะต้องไม่จับจดอยู่กับรายละเอียด เราควรจะมุ่งเน้นที่ภาพรวมและภาพกว้างก็พอ ส่วนวิธีการทำในรายละเอียดปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกน้อง
ผู้นำจำนวนมากจึงได้แต่บอก “นโยบาย” กว้างๆ และกำหนด “เป้าหมาย” แบบหลวมๆ แต่ไม่ได้บอกในรายละเอียดให้พนักงานรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะเป็นไปตามนโยบาย หรือ จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร อาทิ ผู้จัดการโรงงานได้แต่บอกว่า “ปีนี้ขอให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์นะ” ส่วนวิธีการทำก็ให้ระดับล่างๆ ไปคิดและหาวิธีทำกันเอาเอง บ่อยครั้งจึงเกิดความผิดพลาดและต้องเสียเวลาปรับปรุงแก้ไข
ผู้นำประเภทที่สนใจแต่เฉพาะภาพรวม จึงมักอาศัย “ตำแหน่ง” เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการสั่งการ มากกว่าการอาศัย “ความรู้ความสามารถ” ในการพูดจูงใจ หรือ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างความศรัทธาให้ลูกน้องทำตาม
ผู้นำยุคใหม่ จึงต้องมองภาพรวมเป็น พร้อมๆ กับรู้ในรายละเอียดของงานเพียงพอที่จะควบคุมติดตามงาน ปรับปรุงงานให้ดีขึ้น สอนงาน และสร้างศรัทธาได้ ปัญหาในวันนี้ จึงอยู่ที่ว่า ผู้นำจะต้องรู้ในรายละเอียดมากน้อยเพียงใด จึงจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธภาพและประสิทธิผลสูงสุด
ทุกวันนี้ เรื่องเศร้าที่เรามักได้ยินเสมอๆ ก็คือความเสียหายที่เกิดจากการมองข้ามในรายละเอียดของผู้บริหาร ครับผม !