วิกฤติโลกร้อนกับโอกาสในการลงทุน

วิกฤติโลกร้อนกับโอกาสในการลงทุน

ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ต.ค. -12 พ.ย. 2564 มีการประชุมที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากคือCOP26หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 (26th United Nations Climate Change Conference) โดยจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์

เป็นการประชุมที่รวมผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกร่วมหารือแนวทางดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายหลัก คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดความร้อนของโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ภัยแรง พายุที่รุนแรงขึ้น อุทกภัย ไฟป่า และมลภาวะเป็นพิษ

การประชุมครั้งนี้ถูกเลื่อนจากปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีจากการลงนามในข้อตกลงParis AgreementในการประชุมCOP21 ปี2015 ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทางด้านวิชาการ พบว่าอุณหภูมิยังคงสูงขึ้นและถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3.5 องศาเซลเซียสในทศวรรษนี้

ทำให้ความสำคัญในครั้งนี้ประเทศต่างๆ จะต้องแสดงความมุ่งมั่นและประกาศเป้าหมายในระยะกลางที่จริงจังมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลให้เกิดการเร่งเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของภาคธุรกิจโดยพบว่ามีจำนวนบริษัททั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยประกาศที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero emission)เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเพียง 10%เท่านั้น ทั้งนี้การที่จะบรรลุเป้าหมายทางCOP26ได้กำหนดแนวทางที่สำคัญคือ 1.เร่งการเปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินไปเป็นพลังงานสะอาด 2.ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อประโยชน์ต่อผู้คนและสภาวะอากาศ และ 3. เร่งให้เปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด

 เมื่อกลับมามองด้านการลงทุน เราเชื่อว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญและมีเป้าหมายที่สอดคล้องจะมีโอกาสในการเติบโตในระยะยาวมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีโอกาสที่รายได้ลดลงจากการไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจกลับมาส่งผลกระทบได้ นักลงทุนก็มีบทบาทที่สำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายNet-zero emissionได้ โดยลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้

       การลงทุนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เป็น mega trends ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากตามที่เราได้เคยกล่าวไว้ในฉบับก่อนหน้านี้ที่พูดถึงกระแสการลงทุนที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลหรือESG (Environment, Social and Governance)ทั้งนี้มุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ของเราที่มองว่าการลงทุนในกลุ่มที่เป็นNext generationที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวนี้คือ

Circular economy ที่ต้องการแก้ไขปัญหาขยะหรือของเสียที่ปัจจุบันจะถูกนำไปกำจัดโดยการถมทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สามารถนำมาหมุนเวียนหรือกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้นรวมถึงการลดการใช้พลาสติกและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้เช่นแก้วก็มีส่วนช่วยเช่นกันFuture mobilityเป็นที่ชัดเจนว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเติบโตขึ้นและมาแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยคาดว่ายอดขายรถไฟฟ้าจะเป็นครึ่งนึงของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2040 

ทั้งนี้การลงทุนที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ไม่ควรมองแค่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นแต่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในซัพพลายเชนที่เติบโตไปพร้อมกันได้เช่น แบตเตอรี่ บริษัทผู้ออกแบบระบบและการพัฒนาด้านAI,ผู้ผลิตชิปประมวลผลและเซนเซอร์ เป็นต้นHealthy livingโดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เราพบว่ากระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์นั้นเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ธุรกิจด้านอาหารเช่นธุรกิจเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชนั้นกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมฉะนั้นนักลงทุนที่สนใจโอกาสในการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีมากมายให้เลือก ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ปรึกษาการลงทุนที่ท่านเชื่อถือและไว้วางใจ