Survival Guide เอาตัวรอดอย่างไรในภาวะที่ตลาดผันผวน

Survival Guide เอาตัวรอดอย่างไรในภาวะที่ตลาดผันผวน

ภาวะการลงทุนในเดือนม.ค.ที่ผ่านมานับเป็นการเริ่มต้นปีที่สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนอย่างมากจากความกังวลด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้และรวมไปถึงการลดขนาดงบดุลภายหลังการเริ่มมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

หรือโดยสรุปนักลงทุนมองว่าสภาพคล่องในตลาดจะลดลงจากนโยบายที่ตึงตัวขึ้นจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่นักลงทุนมักมองว่าได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมาเกิดแรงเทขายและเกิดการเปลี่ยนกลุ่มจากหุ้นที่มีการเติบโตสูงไปยังหุ้น Value รวมถึงกลุ่มวัฏจักรหลังจากที่ราคาน้ำมันเดินหน้าทำจุดสูงสุด ทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมมีการปรับตัวลงถึง 5.26% เป็นเดือนมกราคมที่มีผลตอบแทนที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 (ที่มา: Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2022)

นักลงทุนคงมีคำถามว่าตลาดหุ้นจะลงไปอีกแค่ไหน ควรจะต้องทำอย่างไรกับพอร์ตการลงทุน  ผมจึงอยากย้อนกลับไปที่ต้นเหตุของการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินการนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นคือการที่เศรษฐกิจนั้นมีการขยายตัวในระดับที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยสำคัญที่สุดคืออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้นักวิเคราะห์รวมถึงนักลงทุนในตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 4-5 ครั้งในปีนี้  

รวมไปถึงการเริ่มลดขนาดงบดุลตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งจากสถิติในอดีตมักจะเห็นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯหรือมีความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านนโยบายการเงิน โดยปรับตัวลงจากระดับสูงสุดโดยประมาณ -10% ถึง -15% ในช่วงปี 2015 และ -20% ในช่วงปี 2018 ที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องรวมถึงการลดขนาดงบดุลในช่วงเวลานั้นซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากกว่าปกติ

เมื่อเจาะลงไปในอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่าเงินเฟ้อที่สูงนี้เป็นเรื่องชั่วคราวหรือถาวร และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทำให้เงินเฟ้อลดลงมาได้หรือไม่ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ของเรายังคงมองว่าเงินเฟ้อยังคงเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดจากฝั่ง Supply หรือด้านอุปทานที่มีปัญหาในภาคการผลิตจากผลกระทบของการระบาดของ Covid-19

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อติดตามสถานการณ์ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการคลี่คลายมากขึ้น ค่าระวางเรือเริ่มมีการปรับตัวลง ต้นทุนของค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับลดลง คาดการณ์ราคารถมือสองปรับลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งมีผลอย่างมากต่อเงินเฟ้อปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูงเรายังคงมองว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังคงมีบทบาทสำคัญและจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในอนาคตให้ลดลง

ทำให้เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดแล้วและจะเริ่มค่อยๆ ปรับตัวลดลง ดังนั้นเรามองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาด้านอุปทานแต่จะกระทบด้านอุปสงค์หรือการบริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงที่จะใช้นโยบายการเงินผิดพลาดได้ถ้ามีการใช้นโยบายที่ตึงตัวมากเกินไปและอาจทำให้การปรับฐานของตลาดรอบนี้จะกลายเป็น Cyclical Bear market หรือมีการปรับฐานหรืออยู่ในช่วงขาลงในช่วง 1-2 เดือนได้ และจะยังไม่ได้ Secular bear market ที่เหมือนในปี 2000 หรือ 2008 ที่มีการปรับลงยาวนานกว่า

คำแนะนำจาก Group CIO ของจูเลียส แบร์ แนะนำนักลงทุนในสถานการณ์นี้ว่า ด้วยความเสี่ยงที่จะยังเห็นการปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วงระยะเวลานึงที่นักลงทุนจะต้องการความชัดเจนในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน นักลงทุนไม่ควรที่จะเร่งรีบทั้งในการเข้าซื้อในช่วงการปรับตัวลงที่มากเกินไป หรือกังวลจนขายออกไปในช่วงเวลาแบบนี้ ตราบใดที่สินทรัพย์ของนักลงทุนนั้นมีคุณภาพและพื้นฐานที่ดีในระยะยาวและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีและเหมาะสม

นอกจากนี้การกระจายสินทรัพย์บางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่นสินทรัพย์นอกตลาด (Private asset) ตามที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้และกองทุน Hedge fund ที่มีกลยุทธ์การบริหารในการให้ผลตอบแทนไม่อิงไปกับตลาดที่มีความผันผวนสูง โดยเน้นสร้างผลตอบแทนจาก Alpha หรือผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่เกิดจากกระบวนการคัดเลือกหุ้นก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตของนักลงทุนได้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อศึกษารายละเอียดและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน