‘กฎหมายไซเบอร์’ ระหว่างประเทศ จำเป็นไหม?

‘กฎหมายไซเบอร์’ ระหว่างประเทศ จำเป็นไหม?

กฎหมายทางไซเบอร์จะกลายมาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แต่ละประเทศควรมีข้อตกลงร่วมกัน

หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวการก่ออาชญากรรมไซเบอร์มากมาย ทั้งการเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) การวางยาด้วยวิธีการโฆษณาให้เหยื่อดาวน์โหลดซอฟต์แวร์อันตรายมาใช้ เช่น แอพพลิเคชัน dnSpy 

ทั้งยังมี การหลอกลวงผ่านวิธีการใช้ Social Engineering และภัยคุกคามในรูปแบบอื่นๆ บทความนี้ผมมีภัยคุกคามที่เป็นภัยต่อสังคมรูปแบบใหม่มาเล่าให้ท่านฟังครับ

ล่าสุดผู้ต้องหาชาวอิสราเอลถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 97 เดือนหรือประมาณ 8 ปี อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติการผิดกฎหมายผ่านเว็บไซต์ชื่อว่า DeepDotWeb (DDW) 

โดยเขาอาศัยอยู่ในประเทศบราซิล และเป็นผู้ดูแลระบบ (Administrator) มาตั้งแต่เว็บไซต์ถูกก่อตั้งเมื่อต.ค. ปี 2556 เขายอมรับสารภาพต่อข้อหาการฟอกเงินในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และยินยอมที่จะถูกริบกำไรที่สะสมมาอย่างผิดกฎหมาย

ก่อนที่เว็บไซต์จะถูกปิดทำการในพ.ค. 2562 เจ้า DeepDotWeb ทำหน้าที่เป็นเว็บไซต์ข่าวที่เชื่อมต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกับตลาดใต้ดินในเว็บมืด (Dark Web) เพื่อเปิดให้ซื้อขายสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ เช่น อาวุธปืน มัลแวร์ อุปกรณ์สำหรับการแฮก ข้อมูลทางการเงินที่ถูกขโมย เฮโรอีน เฟนทานิล วัตถุผิดกฎหมายต่างๆ

ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดเพียงผู้เดียว แต่เขาร่วมมือกับผู้สมรู้ร่วมคิดที่อยู่ในประเทศอิสราเอล ในการโฆษณาหรือกระจายลิงก์สำหรับเชื่อมต่อเข้าสู่ตลาดใต้ดิน 

โดยแลกกับกำไรมหาศาลด้วยการรับสินบนจากผู้ดำเนินงานในตลาดใต้ดินเป็นบิทคอยน์จำนวน 8,155 เหรียญที่มีมูลค่าสูงถึง 8.4 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่มีการทำธุรกรรม (Transaction) และเพื่อที่จะกลบเกลื่อนหลักฐาน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐพบว่า ชายชาวอิสราเอลผู้นี้ได้ทำการโอนบิทคอยน์ในกระเป๋าบิทคอยน์ของ DeepDotWeb ไปยังบัญชีบิทคอยน์อื่นๆ และบัญชีธนาคารที่เขาดูแลภายใต้บริษัทแต่ในนามหรือที่เรียกว่า Shell Company

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยังได้เผยแพร่การพิจารณาคดีของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแฮกเกอร์ Dark Overlord อันเป็นผลจากการที่เขาครอบครองและจำหน่ายข้อมูลระบุตัวตนที่ถูกขโมยมาอย่างผิดกฎหมายมากกว่า 1,700 ข้อมูลระบุตัวตน (Identity) รวมถึงเลขที่ประกันสังคมจำนวนมากผ่านตลาดในเว็บมืด AlphaBay โดยผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นชายชาวแคนาดาซึ่งถูกจับกุมในประเทศกรีซในเดือนก.ย. 2563 ก่อนจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมายังสหรัฐในปีที่ผ่านมาเพื่อรับโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี หลังรับสารภาพในข้อหาฉ้อโกงไปเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามามีบทบาทแค่ในการกระทำที่ถูกกฎหมายเพียงเท่านั้น แต่ยังเข้ามาส่งเสริมให้การทำเรื่องผิดกฎหมายสามารถเชื่อมต่อได้ทั่วโลกอีกด้วย ไม่ว่าผู้ต้องหาจะมีเชื้อชาติใด พำนักอยู่ที่ประเทศใดก็ก่อเหตุได้ 

นั่นทำให้เกิดข้อจำกัดทางกฎหมาย เนื่องจากการกระทำผิดสามารถเกิดขึ้นที่ประเทศใดก็ได้ แต่กลับกันกฎหมายในแต่ละประเทศกลับมีบทบัญญัติและบทลงโทษที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการยาวนาน 

ในอนาคตเชื่อว่านอกจากการให้ความสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว กฎหมายทางไซเบอร์ก็จะกลายมาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แต่ละประเทศควรมีข้อตกลงร่วมกันครับ