การพัฒนาความยั่งยืนในบริบทของภาคธุรกิจ

การพัฒนาความยั่งยืนในบริบทของภาคธุรกิจ

กระแสเรื่อง การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development หรือ SD) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นในบริบทของภาคธุรกิจ

ดังจะเห็นได้จากการข่าวการประชาสัมพันธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ เกี่ยวกับการได้รับรางวัลหรือได้รับการรับรองจากสถาบันต่างๆ ในเรื่องของ “การพัฒนาความยั่งยืน” ที่มีให้เห็นหนาตามากขึ้นเป็นลำดับ

โดยพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ผ่านมา ผู้บริหารธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็ก จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของตัวธุรกิจที่ตนรับผิดชอบอยู่เป็นหลัก โดยจะมุ่งบริหารและพัฒนาให้ธุรกิจมีความยั่งยืนต่อไปได้อย่างยาวนาน

กล่าวคือ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ล้วนมุ่งไปสู่การเติบโตและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับคู่แข่งในตลาด โดยไม่ให้เกิดการเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าจนต้องล่าถอยหรือล้มหายตายจากออกจากตลาดไปเสียก่อนคู่แข่ง

ความยั่งยืนในยุคนั้น จึงให้ความสำคัญไปที่การสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจและผู้ถือหุ้นของธุรกิจเป็นสำคัญ

ต่อมา เมื่อเริ่มเห็นปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างความมั่งคั่งเข้มแข็งจนไม่คำนึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับภาคประชาสังคมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างความเดือดร้อนรำคาญจากมลภาวะต่างๆ การทำให้เกิดเสียงดังแม้ในยามวิกาลเพื่อเร่งผลิตให้ทันกับคำสั่งซื้อ การสร้างปัญหาต่อการสัญจรในชุมชนจากการขนส่งวัตถุดิบ สินค้า ไปจนถึงกากของเสียที่เกิดจากกระบวนการทางธุรกิจ ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ ได้นำไปสู่การปลูกผังแนวคิด “การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ริเริ่มมาจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ธุรกิจไทยก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้บ้างภายใต้ชื่อ CSR หรือ Corporate Social Responsibility

แนวคิดเบื้องต้นของ CSR ก็คือ การเข้ามาช่วยตอบแทนสังคมและชุมชนโดยธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตของธุรกิจ

กิจกรรม CSR ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของการบริจาคเงินให้กับสังคม หรือการเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมพ่วงเข้าไปกับการให้รางวัลตอบแทนพนักงานที่ทำงานสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทัศนาจรหรือทัศนศึกษานอกสถานที่ประจำปี

แต่เมื่อพบว่า งบประมาณที่จัดให้กับกิจกรรม CSR มักจะขึ้นอยู่กับผลกำไรของธุรกิจ ปีไหนกำไรน้อย หรือไม่มีกำไร ก็จะไม่เกิดการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

ขั้นต่อไปของการแสดงความรับผิดขอบต่อสังคมต่อไปก็คือ การพยายาม ผนวกเรื่องของการตอบแทนสังคมให้ฝังเข้าไปกับกระบวนการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องรอดูว่าจะแบ่งผลกำไรในแต่ละปีให้สังคมมากน้อยเพียงใด ที่เรียกว่า “CSR in Process” เช่น การใช้ผลผลิตจากชุมชนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของธุรกิจโดยตรง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ควบคู่ร่วมกันกับการเติบโตของธุรกิจ เป็นต้น ในลักษณะของ การเติบโตร่วมกันไประหว่างธุรกิจกับสังคมอย่างแนบแน่น โดยไม่ขึ้นกับว่าธุรกิจจะมีกำไรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคมในลักษณะนี้ ยังขาดมิติสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทอันเป็นผลมาจากการทำลายธรรมชาติที่เกิดจากธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษ น้ำเสีย ฝุ่น ควัน ฯลฯ ทำให้เรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ภายใต้แนวคิดว่า หากโลกต้องเผชิญภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือสังคม ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ภาคธุรกิจ จึงมีคำว่า “ESG” เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคำย่อของ Environment (สภาวะแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (การกำกับดูแลกิจการ) กลายเป็นเสาหลักให้ธุรกิจทำตัวเป็น “น้ำดี” ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทำธุรกิจที่ยึดมั่นกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชนและสังคม และการมีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และสามารถบริหารจัดการให้เกิด ESG ขึ้นได้อย่างสมดุลและเหมาะสมกับประเภทและลักษณะของธุรกิจ

ต่อมา ก็เป็นแนวคิดจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอีกนั่นแหละ โดยเฉพาะองค์กรระดับโลก เช่น สหประชาชาติ ที่เห็นว่า โลกในปัจจุบันมีปัญหาอย่างมากมายจนอาจทำให้ประชากรรุ่นหลังไม่สามารถใช้โลกเป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงปลอดภัยได้อีกต่อไป คำว่า “SD” (Sustainability Development) จึงกลายมาเป็นพันธะใหม่ให้กับชาวโลก รวมถึงภาคธุรกิจด้วย มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความยั่งยืนให้แก่โลก 17 หัวข้อ ที่เรียกว่า SDG (Sustainability Development Goals)

เรื่องของความยั่งยืน จึงกลายมาเป็นหน้าที่ของ “ธุรกิจน้ำดี” ใน 2 ระดับ คือ การสร้าง ESG ในระดับธุรกิจ และการช่วยสร้าง SDG ในระดับโลก ที่ได้เริ่มนำร่องขึ้นแล้วในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และอาจส่งแรงกระเพื่อมหรือกระจายมาถึงธุรกิจระดับเอสเอ็มอีได้ในเวลาข้างหน้า

ธุรกิจที่ยังไม่ได้เริ่มต้นคิดถึงเรื่องของ “การพัฒนาความยั่งยืน” ก็อาจจะต้องเริ่มจับตามองกระแสใหม่นี้ให้มากขึ้น ดูว่าเมื่อไหร่มันจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจของเรา และกระแสนี้จะมีความรุนแรงจนทำให้เกิดความ “ไม่ยั่งยืน” ขึ้นกับธุรกิจของเราหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในระดับธุรกิจด้วยกันเอง หรือในระดับโลก

แต่คงจะอยู่เฉยๆ โดยไม่เตรียมการอะไรเลย ไม่ได้อีกแล้ว!!???!!!