ทักษิณ แพทองธาร เพื่อไทย.. มัดรวม ชิงเก้าอี้ “นายกฯ”
บทวิเคราะห์การเมือง ทักษิณ แพทองธาร เพื่อไทย.. มัดรวม ชิงเก้าอี้ “นายกฯ”
หมากเกมนี้ “ทักษิณ” เล่นเอาตาย มัดรวม ฐานคะแนนนิยมตั้งแต่รุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ เพื่อ “แลนด์สไลด์” โดยเฉพาะ ฝ่ายตรงข้ามปรามาสได้ แต่ประมาทไม่ได้แม้แต่เสี้ยววินาที
พลันเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย สิ่งแรกที่นักวิเคราะห์การเมืองแทบฟันธง ก็คือ การยกฐานะขึ้นมาจ่อ เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
เพราะเป็นที่รู้กันว่า เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง เสียงจริงคือใคร
ถ้าใครติดตามข่าวสารการเมืองอย่างใกล้ชิด ก็จะรู้ว่า ไม่ไกลจากความเป็นจริง
เพราะ “ทักษิณ” เคยออกมาพูด เมื่อคืนวันที่ 12 ต.ค. 2564 ในหัวข้อ “7 ปีพัง ขออีก 5 ปีคงพินาศ ฮัลโลคนไทยไว้ใจประยุทธ์ได้หรือ” ผ่านรายการ CareTalk x Care Clubhouseว่า
“คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ อย่าเป็นนายกฯเลย ล้าหลังแล้ว ต้องให้เด็ก GenX GenY มาเป็นแทน”
แถมคืนวันเดียวกัน มีข่าวว่า “ทักษิณ” วิดีโอคอลพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ประมาณ 30 คน ที่รับประทานอาหารใน “เซฟเฮาส์ย่านเหม่งจ๋าย” บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาแน่นอน ขอให้เตรียมพร้อมเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นความหวังของประชาชนที่จะเข้ามา ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
พร้อมให้ความมั่นใจกับส.ส.ว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะยิ่งกว่าแลนด์สไลด์ เนื่องจาก “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของเพื่อไทย จะเป็นคนรุ่นใหม่ GenX GenY
แต่ช่วงนั้น นักวิเคราะห์ ชี้ไปที่คนในตระกูลชินวัตรหลายคน รวมถึง “พงศ์” ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามีของพินทองทา ลูกสาวคนโต “ทักษิณ” และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ก่อนหวยจะมาออกที่ “อุ๊งอิ๊ง” คนที่ได้สายเลือดการเมือง “ทักษิณ” มาอย่างเข้มข้นกว่าใครในบรรดาลูกทั้งหมด
ยิ่งกว่านั้น การเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” ยังไม่เพียง เพื่อสืบสาน “ทายาทนายกฯ” ให้กับ “ชินวัตร” เท่านั้น หากแต่ยังวิเคราะห์ได้อีกว่า เป็นการช่วงชิงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” ที่เริ่มให้ความสนใจการเมืองเป็นอย่างมาก
เห็นได้ชัด จากนิด้าโพลเมื่อปลายเดือนก.ย.2564 คนไทยร้อยละ 32.61 ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีในดวงใจ แต่ร้อยละ 11.05 ชื่นชอบ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยคะแนนนิยม “พิธา” ใกล้เคียงกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ที่แยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย
ขณะที่อีสานโพล ช่วงต้นเดือนต.ค. คนอีสานร้อยละ 24.0 ยกให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 23.0 ตามมาด้วยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.1
นัยว่า การที่กระแส “พิธา” มาแรงในอีสาน เนื่องจากเป็น ผู้นำรุ่นใหม่ เป็นตัวแทนคนรุ่น GenX GenY รวมทั้งกระแสไม่เอาประยุทธ์ ยังมีสูงในเวลานั้น
ดังนั้น การผลักดัน “อุ๊งอิ๊ง” ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ “ทักษิณ” ก็หมายมั่นที่จะช่วงชิงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” จาก “พิธา” และพรรคก้าวไกล ด้วยนั่นเอง
เพราะอย่าลืม ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ พบว่า แบ่งออกเป็นสามส่วนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแรกคือคนรุ่นใหม่ทั่วไป ที่ต้องการหาผู้นำคนรุ่นใกล้เคียงกัน เพื่อก้าวข้ามการเมืองแบบเก่า ส่วนนี้น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร ส่วนที่สอง คนรุ่นใหม่ ที่เป็น “สาวกสามนิ้ว” หรือ ฐานเสียงสำคัญของพรรคก้าวไกลแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สาม คนรุ่นใหม่ ที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ “สามนิ้ว” แต่รับไม่ได้กับการ “ปฏิรูปสถาบันฯ”
ถ้ามองจากสามส่วนนี้ เห็นได้ชัดว่า “อุ๊งอิ๊ง” ก็มีสิทธิ์ลุ้นกอบโกยมาได้เช่นเดียวกัน?
ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือน “อุ๊งอิ๊ง” จะช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหา ความหวั่นไหวของส.ส.อีสาน เมื่อเห็นกระแสนิยม “พิธา” มาแรงจนน่าใจหายได้เป็นอย่างดี
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” ที่มี “อุ๊งอิ๊ง” เป็นหัวหน้าครอบครัว แม้ถูกเตือนให้ระวังจะถูกมองว่า “ครอบครัวชินวัตร”
แต่เหนืออื่นใด ความพยายามที่จะฟื้นกระแสนิยมในยุค ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนกระทั่ง เพื่อไทย ตามความหมายของคำว่า “ครอบครัว” และหัวใจเดิมนั้น ถือว่าไม่ธรรมดา
เพราะนั่นเท่ากับ “ทักษิณ” ต้องการกินรวบ คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตั้งแต่ฐานคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง กระทั่งรุนใหม่ โดยทำให้ทุกคนเห็นว่า งานนี้ “ทักษิณ” เอาจริง เพราะมี “อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวสุดที่รัก และเก้าอี้นายกฯ เป็นเดิมพัน
โอกาสมีความเป็นไปได้หรือไม่ คงต้องย้อนไปดูข้อมูลจาก "กกต." สรุปผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต เปรียบเทียบระหว่างปี 2554 กับ 2562 เอาไว้
ปี 2554 เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในภาคเหนือแทบทั้งภาค ได้ส.ส.เขต 8 จังหวัด จาก 9 จังหวัด รวม 35 ที่นั่ง คิดเป็น 97% ของทั้งหมด มีเพียงเขตเดียวเท่านั้นที่พรรคเพื่อไทยแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ คือที่ จ.แม่ฮ่องสอน
ปี 2562 เพื่อไทย ยังชนะมากที่สุดในภาคเหนือ ได้ ส.ส.ทั้งหมด 25 ที่นั่ง จาก 33 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 76% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด แม้เทียบกับปี 2554 จะได้ ส.ส.เขต ลดลงกว่า 21%
ที่ ภาคใต้ เมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์กวาดที่นั่ง ส.ส. ในพื้นที่ภาคใต้ไปถึง 50 ที่นั่ง จาก 53 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 94% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยที่นั่งที่เหลืออีก 3 เขต ตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคมาตุภูมิ พรรคละ 1 เขต
แต่ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เสียที่นั่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือชนะ ส.ส.เขต เพียง 22 ที่นั่ง จาก 50 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 44% ของทั้งหมด
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทยได้ 8 ที่นั่ง และ ประชาชาติได้ 6 ที่นั่ง ส่วนอีก 1 เขตเป็นของรวมพลังประชาชาติไทย
ภาคอีสาน ที่ถือเป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย ปี 2554 เพื่อไทยกวาดที่นั่งส.ส. อีสาน ถึง 104 ที่นั่ง จาก 126 ที่นั่ง คิดเป็น 84% ของที่นั่งทั้งหมด ขณะที่ภูมิใจไทยได้ 13 ที่นั่ง ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินและประชาธิปัตย์ แบ่ง ส.ส. พรรคละ 4 ที่นั่ง อีก 1 ที่นั่งเป็นของชาติไทยพัฒนา
ปี 2562 เพื่อไทยได้ ส.ส. ลดลงเหลือ 84 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 72% ของทั้งหมด ซึ่งลดลง 11% จากปี 2554
ขณะที่ภูมิใจไทยได้ 16 ที่นั่ง พลังประชารัฐได้ 11 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่นั่ง อนาคตใหม่ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาได้ คนละ 1 ที่นั่ง
ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก (ไม่ร่วม กทม.)ปี 2554 เพื่อไทย 55 ที่นั่ง จาก 127 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ 37 ที่นั่ง ภูมิใจไทย ได้ 15 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนาได้ 13 ที่นั่ง พลังชลได้ 6 ที่นั่ง จาก จ.ชลบุรี และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ 1 ที่นั่ง
ปี 2562 พลังประชารัฐได้ 58 ที่นั่ง จาก 121 ที่นั่ง เพื่อไทยได้ 18 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ 15 ที่นั่ง อดีตอนาคตใหม่ได้ 16 ที่นั่ง ภูมิใจไทยได้ 15 ที่นั่ง และชาติพัฒนาได้ 5 ที่นั่ง
กรุงเทพฯ ปี 2554 ประชาธิปัตย์ 23 ที่นั่ง จาก 33 ที่นั่ง คิดเป็น 70% ของทั้งหมด เพื่อไทยได้ 10 ที่นั่ง
ปี 2562 พลังประชารัฐได้ 12 ที่นั่ง จาก 30 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 40% ของทั้งหมด เพื่อไทยและอนาคตใหม่ได้พรรคละ 9 ที่นั่ง
สำหรับคะแนนเสียงมหาชน (ป๊อบปูลาร์โหวต) เอาเฉพาะปี 2562 พลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ 8.43 ล้านเสียง เพื่อไทยได้ 7.92 ล้านเสียง
เห็นได้ชัดว่า คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงสูงไม่แพ้พรรคไหน แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งพรรคใหญ่มีโอกาสน้อยที่จะได้ “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” อย่างกรณีเพื่อไทยไม่ได้แม้แต่คนเดียว
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้า มีการเปลี่ยนแปลง “กติกา” การเลือกตั้งพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เข้าทางพรรคเพื่อไทยแน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือน “ทักษิณ” เองก็รู้ “จุดอ่อน” ของตัวเองอยู่ตรงไหน รู้ว่า “ชนชั้นกลาง” ยังคงฝังใจจำอยู่กับพฤติกรรมการทุจริตเชิงนโยบายในอดีตของเขา แต่ทว่า ผลการเลือกตั้งต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสิน “แพ้-ชนะ” ทางการเมือง
ดังนั้น การทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง ให้ได้มากที่สุด หรือ แลนด์สไลด์ อย่างที่คาดหวังได้ยิ่งดี
แต่กว่าจะถึงวันเลือกตั้งเป็นเรื่องสุดคาดเดา อะไรก็เกิดขึ้นได้ และก่อนจะถึงวันเลือกตั้งไม่รู้สถานการณ์การเมืองจะออกหัวออกก้อย วันนี้ยังเร็วเกินไป ถ้าจะฟันธงว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือ แลนด์สไลด์ อย่างที่ “ทักษิณ” ประกาศเอาไว้
แต่ที่แน่ๆ มันทำให้เห็นหมากเกม ที่หวัง “กินรวบ” คะแนนนิยม ของ “ทักษิณ” ด้วยเหลี่ยมเล่ห์ทางการเมืองอันฉลาดเหลือร้ายเลยทีเดียว