Behind the Curve คืออะไร และทำไมการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงยังวางใจไม่ได้เสียทีเดียว
ในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้หายใจหายคอกันบ้าง หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี S&P500 และ NASDAQ Composite ปรับเพิ่มขึ้น 7.95% และ 10.16% ตามลำดับ โดนการฟื้นตัวในระดับนี้เห็นครั้งสุดท้ายคือช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ใหม่ๆ ในช่วงต้นปี 2020 แม้นับตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ดัชนีทั้งสองจะยังให้ผลตอบแทนติดลบอยู่ 4.68% และ 9.43% ตามลำดับ แต่ก็น่าจะพอช่วยคลายกังวลให้กับนักลงทุนได้บ้าง
สาเหตุหลักน่าจะเกิดจากการเริ่มขึ้นดอกเบี้ยของธนาคากลางสหรัฐฯ (Fed) และท่าที่ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวล ที่ให้สัมภาณ์กับสื่อในภายหลังโดยเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยว่าพร้อมจะปรับแบบรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ( Move Expeditiously)
ซึ่งสะท้อนท่าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่พร้อมจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยหากการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (Long-term Inflation Expectations) ปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งตามปรกติการขึ้นดอกเบี้ยไม่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง
แต่ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังและรอคอยมาหลายเดือน เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อซึ่งเป็นที่น่ากังวลกว่าในภาวะปัจจุบันลงไปได้บ้าง และมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะไม่ “Behind the Curve” มากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว
คำว่า Behind the Curve มักจะถูกยิบหยกมาพูดถึงเวลาที่ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ โดยหากดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไป ทำให้เงินเฟ้อเริ่มควบคุมไม่ได้ ก็จะส่งผลเสียอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและราคาอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ครัวเรือนกำลังซื้อถดถอยลง และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางไม่ต้องการ เนื่องจากการแก้ปัญหาเงินขั้นรุนแรงนั้นทำได้ยาก
โดยในช่วงแรกประเด็นเรื่องของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานจากการขาดแคลนแรงงานระยะสั้นหรือการจัดสรรแรงงานอย่างไม่มีสมดุล (Misallocation) ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งในการคาดการว่าเงินเฟ้อจะเป็นประเด็นชั่วคราว หรือ “Transitory” เท่านั้น
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้อก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องชั่วคราวและเริ่มส่งผลต่อตลาดแรงงานและการคาดการเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นเรื่องของแนวโน้มการฉีดวัคซีนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะชะลอตัวลงทำให้เร่งฉีดไม่ได้เท่าที่คาด
รวมถึงการแพร่ระบาดของสายพันธ์ใหม่ ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปรกติได้อย่างเต็มที่ กฏระเบียบที่ผ่อนคลายช้ากว่าคาดทำให้แรงงานยังฟื้นตัวแบบไม่สมดุล ปัญหาของอุปสงค์คงค้างที่เพิ่มขึ้น (Pend-up Demand) ของสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากนโยบายการการคลังแบบขาดดุล รวมถึงแรงกดดันด้านพลังงานและประเด็นผลกระทบจากสงครามล้วนแล้วแต่มีส่วนต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่ดูท่าจะไม่ชะลอตัวลงง่ายๆ
โดยท่าที่ของ Fed เองก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปและในที่สุดการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าปัจจุบันก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะตามมาด้วยแผนการลดการซื้อพันธบัตรหรือ Quantitative Tightening ในไม่ช้า ซึ่งแม้ทั้งสองปัจจัยจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและลดแรงกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือน รวมถึงลดสภาพคล่องในตลาดเงินลง แต่ก็ยังน่าจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจมากกว่าที่จะปล่อยให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความเสี่ยงจะหมดไปเสียทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่ตลาดคาดหวังจะให้ Fed ทำเพื่อชะลอเงินเฟ้อกับสิ่งที่ Fed คาดไว้ยังต่างกันค่อนข้างมาก โดยจากการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ค่ามัธยฐาน (Median) หรือค่ากลางของการคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินจาก Dot Plot อยู่ที่ 1.87% ณ สิ้นปี 2023 เทียบกับที่นักลงทุนในตลาดเงินคาดไว้ระหว่าง 2.40% - 2.50%
หรือยังคงต่างกันกว่าราวๆ 0.70% หรือเกือบ 3 ครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เหลือการประชุมนโยบายการเงินอีก 6 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสิ่งที่จะแตกต่างกันจะเกิดขึ้นในช่วงการประชุมในอีก 1-2 ครั้งต่อไปเป็นหลัก โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% อีกอย่างน้อยสองครั้งต่อเนื่อง
เพื่อเร่งลดแรงกดดันเงินเฟ้อก่อนที่จะควบคุมไม่ได้ และหากไม่เป็นไปดังคาด อาจทำให้ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อกลับมาฉุดตลาดการเงินอีกครั้ง ทำให้ส่วนต่างในส่วนระหว่างการคาดการณ์นี้ยังอาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนได้ และเราเองก็ยังคงไม่สามารถวางใจได้เสียทีเดียว ...
นอกจากนี้ เมื่อรวมกันความเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังคงไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะไม่ส่งผลดีกับใครเลยในทางเศรษฐกิจ ทำให้ความเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังคงน่าจะเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ปีนี้ยังคงเป็นปีที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการลงทุน แม้ในช่วงที่ผ่านมาคลาดหุ้นจะฟื้นตัวให้นักลงทุนได้ชื่นใจกันบ้างก็ตาม ..
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด