ราคาน้ำมันสูงจะทำให้เกิดภาวะ Stagflation ?
อัตราเงินเฟ้อนับเป็นประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจและการลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และทวีความร้อนแรงขึ้นเมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งความขัดแย้งนี้ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงาน
โดยเฉพาะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประเทศรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐฯ และประเทศซาอุดิอาระเบีย
ที่มา : MFC, Bloomberg
หลังจากที่การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการทั้งการบริโภคและลงทุน ส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป และค่าบริการต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น ต่อมาเมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนจนนำไปสู่การคว่ำบาตรของหลายประเทศได้ผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ WTI, Brent และดูไบ เพิ่มขึ้น 70.0% (yoy), 70.7%(yoy) และ 78.2%(yoy) ตามลำดับ นับตั้งแต่ต้นปีถึง 8 มีนาคม 2565 ได้สร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกแตกต่างกันไป จนนำไปสู่ความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Stagflation ซึ่งภาวะดังกล่าว มีความแตกต่างจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ที่นักลงทุนอาจมีความคุ้นชินมากกว่า
ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง ผลิตภาพทางการผลิตสูงและตลาดแรงงานตึงตัว เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อจากมูลค่าเงินที่ลดลงของผู้บริโภคและต้นทุนของบริษัท เพราะต้องใช้จำนวนเงินมากขึ้นเพื่อที่จะซื้อสินค้าและบริการในจำนวนเท่าเดิม ในด้านการลงทุนจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (อัตราผลตอบแทนหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ)ให้ลดลง
ดังนั้นรัฐบาลและธนาคารกลางจะเข้ามาดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยการใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่ตึงตัว เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การตรึงราคาสินค้าและการปรับขึ้นภาษี เป็นต้น แต่สำหรับ ภาวะ Stagflation เป็นภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงมากจากต้นทุนราคา แต่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและมีอัตราการว่างงานสูง โดยภาวะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2516 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น
โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากที่กลุ่มโอเปกเป็นกลุ่มผู้ผลิตหลักและมีอิทธิพลในการกำหนดราคาได้ลดการผลิตจนทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงสาม ทำให้ในปี 2517 ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญกับภาวะ Stagflation ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย 2 ปีติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 11% ในขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนไปทำระดับสูง 8.5% ของกำลังแรงงานในปีถัดมา ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ราคาน้ำมันดิบ WTI โดยเฉลี่ย และเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2516-2517
ที่มา: St. Louis Fed, MFC
ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะ Stagflation สินทรัพย์ลงทุน ได้แก่ ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก ตรงข้ามกับหุ้นสามัญที่ติดลบสูง
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของสินทรัพย์ลงทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2517
ที่มา: https://www.putnam.com/advisor/content/perspectives/8157-a-look-at-inflation-and-investment-performance
ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ผลิตน้ำมันไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มโอเปกเท่านั้น ข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) พบว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกในเดือน ม.ค. 2565 และ ก.พ. 2565 อยู่ที่ 98.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 99.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เฉลี่ยเดือนละ 99.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ประมาณ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังมีความต่างประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากกำลังการผลิตของรัสเซียหายไปประมาณ 11% ของการผลิตจะทำให้มีส่วนต่างราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะกดดันให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง แต่อีกทางหนึ่งก็จะกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก เช่น สหรัฐฯ เข้ามาผลิตเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่ม Shale Oil, Shale Gas โดยประมาณการราคาน้ำมันล่าสุดของ EIA ในรายงาน Short-Term Energy Outlook เดือน มีนาคม 2565 คาดว่าในปี 2565 ราคาน้ำมันดิบ West Texas และน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยที่ 101.17 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 105.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาจะทำระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 2 และเริ่มชะลอลงต่ำกว่า 100 ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งได้นำปัจจัยสงครามรัสเซียและยูเครนมาประกอบการคาดการณ์ (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ประมาณการราคาน้ำมันดิบ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA)
ที่มา: EIA (https://www.eia.gov/outlooks/steo/pdf/steo_full.pdf)
ภาวะ Stagflation อาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงนี้เป็นผลจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายลงจะลดแรงกดดันของราคาน้ำมันโลกลงได้ ซึ่งราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงวันที่ 8-17 มีนาคม 2565 ปรับตัวลงหลังจากที่มีการเจรจาสันติภาพคืบหน้า โดยราคาน้ำมันดิบ WTI Brent, และดูไบ ลดลง -16.8% (yoy), -16.7%(yoy) และ -19.6%(yoy) ตามลำดับ ในขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโต แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง เช่น ประเทศสหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2565 และ 2566 จะขยายตัว 2.8% (yoy) และ 2.2% (yoy) ตามลำดับ
ส่วนอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำที่ 3.5% ของกำลังแรงงาน อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนถึงกลางปีนี้หรืออาจจะยาวไปจนถึงปลายปี หากราคาน้ำมันยังทรงตัวสูง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวด้านราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม ในภาวะเงินเฟ้อสูงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือชนะเงินเฟ้อ เช่น ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่มีธุรกิจหรือในอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ หรือลงทุนในทองคำที่มักจะได้ยินเสมอว่าเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุน เพื่อป้องกันอัตราเงินเฟ้อหรือลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น การที่พอร์ตการลงทุนจะได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินไปนัก ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งทางตรงและผ่านกองทุนรวมที่บริหารโดยมืออาชีพ โดยขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาการลงทุนก่อนลงทุนทุกครั้ง เพื่อให้การลงทุนสร้างความมั่งคั่งภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้