ซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม COP27

 ซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม COP27

พายุดีเปรสชั่น“โนรู”เข้าไทยเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ขณะเดียวกันพายุเฮอริเคน Ian ทำลายคิวบา และขึ้นทิศเหนือเข้ารัฐฟลอริดา และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ นำคลื่นลมเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ใน 500 ปี ค่าเสียหายประเมินว่าหลายพันล้านดอลลาร์

ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงของภาคตะวันตกในสหรัฐทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆลดลงเป็นประวัติการณ์ น้ำท่วมหนึ่งใน 3 ของพื้นที่ในประเทศปากีสถาน ทำให้ประชาชนกว่า30 ล้านคนไม่มีที่อยู่อาศัย น้ำท่วมในภาคเหนือของจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ความแห้งแล้งในภาคกลางลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นสัญญาณอันตรายว่าชาวจีนอาจจะเจอวิกฤติขาดอาหาร เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เป็นตัวอย่างสิ่งท้าทายแค่ส่วนหนึ่งของชาวโลกในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็น “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” (Climate Crisis) เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง แก้ปัญหาโดยด่วนที่สุด

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดในโลก อุตสาหกรรมใหญ่ยังต้องพึ่งพาถ่านหินเป็นพลังงาน แต่หากเปรียบเทียบกับสหรัฐแล้ว ปริมาณมลภาวะของจีนต่อหัวยังน้อยกว่าสหรัฐ(ชาวจีนหนึ่งคนมีส่วนรับผิดชอบปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10.1 ตันต่อปี ขณะที่ชาวอเมริกันหนึ่งคนรับผิดชอบ 17.6 ตันต่อปี)

นโยบายและภาคปฏิบัติของสองประเทศนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก จีนประกาศว่าจะลดการปล่อยมลภาวะลงภายในไม่เกินปีค.ศ. 2030 และ ปีค.ศ. 2060 จะเป็น “ปีแห่งการเป็นกลางทางคาร์บอน” หมายถึงมลภาวะจะลดเป็นศูนย์ 

 

จีนปฏิบัติอย่างจริงจังเรื่องพลังงานหมุนเวียน ใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วย รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) ผลิตและจำหน่ายในเมืองจีนต่อปีมากกว่าประเทศอื่นๆในโลกรวมกัน

ครึ่งปีนี้ยอดขายรถ EV ทั้งโลก 4.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 63% ในจำนวนนี้ 2.4 ล้านคันขายในจีน 1.1 ล้านคันขายในยุโรป และ 414,000 คันขายในสหรัฐ

 สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นความภูมิใจคือ นโยบายของจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงชัดเจนเมื่อปีค.ศ. 2015 ก่อนหน้านั้นจีนจะเป็นผู้นำหลายประเทศสร้างกระแสตำหนิประเทศพัฒนาแล้ว ให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อมลภาวะซึ่งเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมต่างๆ แต่หลังจากปีค.ศ. 2015 เป็นต้นมานโยบายของจีนเปลี่ยนมาเป็น “common but differentiated responsibility” ซึ่งโดยสรุปคือ “เรามีปัญหาร่วมกันและต้องช่วยกันรับผิดชอบ”

สหรัฐโดยผู้นำปัจจุบัน คือประธานาธิบดี Biden ได้กลับมาเป็นผู้นำโลกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง (หลังจากที่รัฐบาลก่อนหน้านั้น ถอนตัวออกจากเวทีโลกแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน) รัฐบาลชุดนี้ผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์ให้เกิดงบประมาณ 369,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ลงทุนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สหรัฐปฏิภาณจะลดมลภาวะ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 และในสัปดาห์ที่ผ่านมาวุฒิสภาของสหรัฐออกกฎหมายลดอุณหภูมิโลกลง 0.2 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่สำคัญมากของบรรยากาศการเมือง ในอดีตที่ผ่านมากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มักจะขัดขวางกฎหมายหรืองบประมาณเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลงานครั้งนี้ของวุฒิสภานับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

การประชุมครั้งใหญ่ของประชาคมโลก COP27 The United Nations Climate Change Conferences https://unfccc.int/cop27 จัดโดยสหประชาชาติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปีนี้ที่ประเทศอียิปต์ วันที่ 6 -18 พ.ย. คาดว่าจะมีผู้เข้าประชุมกว่า 30,000 คน หลายประเทศในแอฟริกาจะมีบทบาทในการประชุมครั้งนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานที่จัดอยู่ในทวีปแอฟริกา

และที่สำคัญคือสหรัฐมีงบประมาณใหญ่ที่จะแบ่งปันด้านวิจัย เทคโนโลยี เครื่องจักรกล เงินช่วยเหลือ ผู้เชี่ยวชาญ และการลงทุนอื่นๆ

ในการประชุม COP27 ครั้งนี้สหรัฐจะหาพันธมิตร สร้างกลุ่มร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรทางการเงินเป็นรางวัล เป็นการทูตเชิงรุก สร้างคะแนนนิยมและความศรัทธา และอาจจะเป็นการแย่งชิงความสนใจจากจีน ซึ่งกำลังเด่นเรื่องเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการลงมือปฏิบัติในหลายโครงการใหญ่ ประเทศสมาชิกสหประชาชาติส่วนใหญ่มีนโยบายและลงมือปฏิบัติเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแล้ว แต่ติดเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามทรัพยากรและบรรยากาศการเมือง

การที่ 2 ยักษ์ใหญ่ทั้งจีนและสหรัฐ เข้ามาแข่งขัน “ซอฟต์พาวเวอร์เรื่องสิ่งแวดล้อม” นั้นเป็นนิมิตหมายอันดี ทั้งสองประเทศจะมีบทบาท“ในการเป็นผู้ให้” และขณะเดียวกันจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะการลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันความเสียหายระยะยาว

แม้ว่าในระยะหลังนี้ ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐจะดูเหมือนตึงเครียด และไม่เป็นมิตร เช่นการประกาศระงับการสื่อสารระหว่างกันหลายเรื่อง รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เพื่อประท้วงการที่ประธานสภาผู้แทนของสหรัฐไปเยี่ยมเยือนไต้หวัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ทั้งสองประเทศมีผู้นำและทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์สูง การแข่งขันทางทหารเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆที่เป็นหัวข่าวประจำวัน เป็นธรรมชาติของการเมืองระหว่างประเทศในยุคเปลี่ยนแปลง

โลกมาถึงจุด “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ อยากเห็นทุกฝ่ายลดทิฐิ และหาทางร่วมมือกันก่อนที่จะสายเกินไป

กรุณาติดตามข่าวสารและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยละเอียดเป็นภาษาไทยได้ที่นี่ครับ https://www.greennetworkthailand.com/category/green-focus/