เจาะลึก NFT จะเป็นอนาคตหรือแค่ความฝัน
ถึงแม้ช่วงนี้ตลาด NFT อาจดูเงียบเหงา ไม่ได้บูมขึ้นป้ายโฆษณาเต็มเมืองเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ก็ยังมีโครงการศิลปะผ่าน NFT ใหม่ ๆ เกิดขึ้นและยังมีอีกหลายโครงการบนบล็อกเชนที่จะนำ NFT ไปใช้ครับ ในตอนนี้เรามาดูเรื่อง NFT กันครับ ว่าคืออะไร ซื้อแล้วได้อะไร ซื้อขายที่ไหน และทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร
โทเคนที่ทุกอันไม่ซ้ำกัน
โดยทั่วไปแล้วเราจะคุ้นกับเหรียญคริปโทหรือโทเคน คล้ายคลึงกับเหรียญบาท เหรียญสิบบาทที่เราพกในกระเป๋าเราครับ คือแต่ละเหรียญมีค่าเท่ากัน เราหยิบเหรียญบาทไหนมาก็มีค่าชำระหนี้ตามกฎหมายได้ 1 บาท เวลาเราโอนคริปโท 1 BTC จะโอนยังไงก็ 1 BTC ไม่มีท่าไหนที่จะได้มากกว่าหรือน้อยกว่า สิ่งนี้เรียกว่า fungibility ครับ คือทดแทนกันได้นั่นเอง
NFT นั้นย่อมาจาก Non-Fungible Token คือ แต่ละโทเคนมีความเป็นเอกลักษณ์ ทดแทนกันไม่ได้ ซึ่งในรูปแบบที่เห็นกันมากที่สุดก็คือโทเคนติดเลขประจำตัวครับ ตัวอย่างเช่น โทเคนสมใจหมายเลขหนึ่ง (Somjai [1]),โทเคนสมใจหมายเลขสอง (Somjai [2]) แล้วรันเลขประจำตัวไปเรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละโทเคนนั้นต่อให้มีหน้าที่ใช้งานเหมือนกัน แต่ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในตัวโทเคนอาจไม่เหมือนกัน ลองหยิบบัตรเครดิตหรือเดบิตในกระเป๋าคุณมาดูครับ ต่อให้นำไปรูดชำระค่าสินค้าหรือบริการได้เหมือนกัน แต่ก็มีวงเงินไม่เท่ากัน เงื่อนไขและโปรโมชันต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน NFT ก็เป็นเช่นนั้นครับ
จริงๆ แล้วซื้อ NFT จะได้อะไรมา
ที่จริงแล้วต้องมาดูกันว่าเวลาเรากดซื้อ NFT มา จะได้อะไรกัน ซึ่งสิ่งที่เราได้มาคือโทเคนที่อยู่บนสมาร์ตคอนแทร็ก ซึ่งในตัวโทเคนก็จะมีข้อมูลบันทึกอยู่ ส่วนมากจะเป็นลิงก์ไปยังไฟล์ผลงาน แล้วตัวไฟล์จะเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว วีดิโอ เสียง หรือจะเป็นเอกสารก็ยังได้ และก็ยังสามารถบันทึกข้อมูลอื่น ๆ ลงไปได้ ถ้ากลับไปที่การเทียบว่าเป็นบัตรเครดิต ข้อมูลก็อาจมีเลขบัตร, ชื่อผู้ถือ, วงเงิน, วันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็น NFT ที่เป็นตัวละครในเกม ก็อาจบันทึกเรื่องรูปร่างหน้าตา ค่าพลังต่างๆ นั่นเองครับ
โครงการ NFT ที่มีชื่อเสียงอย่าง Bored Ape Yacht Club (BAYC) ซึ่งเป็นภาพวานรที่ศิลปินวาดส่วนประกอบต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบมาให้คอมพิวเตอร์สุ่มประกอบให้มีความหลากหลายถึงหนึ่งหมื่นภาพที่ไม่ซ้ำกัน ก็มีเหล่าคนมีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการซื้อไว้เป็นที่ครอบครองกัน ซึ่งหลายคนก็นำมาใช้เป็นภาพโปรไฟล์บนทวิตเตอร์ ซึ่งสนับสนุนการเชื่อม NFT โดยเฉพาะ
สุดท้ายแล้วเวลาเราซื้อ NFT มา สิ่งที่เราได้มาคือสิทธิ์ในการใช้โทเคนนั้น และว่าเราได้ครอบครองของโทเคนตัวนี้ บนสมาร์ตคอนแทร็กนี้ ที่ใช้บนแพลตฟอร์มใดได้บ้าง ซึ่งสมาร์ตคอนแทร็กแต่ละตัวนั้นก็มีความน่าเชื่อถือไม่เท่ากัน เพราะใคร ๆ ก็สามารถเขียนสมาร์ตคอนแทร็กแล้วส่งขึ้นไปบนบล็อกเชนได้ เพียงแค่จ่ายค่าแก๊ส เวลาเราจะซื้อ-ขาย NFT ต้องอย่าลืมดูว่าซื้อมาถูกสมาร์ตคอนแทร็ก ถูกเครือข่ายบล็อกเชนหรือไม่ ไม่งั้นก็เหมือนเราไปซื้อของก็อปมานั่นเองครับ
ซื้อ-ขายที่ไหน
NFT นั้นจะซื้อ-ขายกันผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Marketplace ครับ ความรู้สึกจะเหมือนไปเดินดูตลาดเปิดท้ายขายของหรือไปดูแกลเลอรีงานศิลปะมากกว่า เพราะเวลาเราทำการซื้อขาย NFT เราไม่ได้เน้นดูกราฟ แต่จะเน้นดูคุณภาพของชิ้นงาน เรื่องราว และประวัติการซื้อขาย ซึ่งก็คือข้อมูลที่บันทึกอยู่บนตัวโทเคนและบนบล็อกเชนนั่นเองครับ ซึ่ง Marketplace ของบล็อกเชน Ethereum ที่ได้รับความนิยมสูงก็มีทั้ง Opensea, Rarible, SuperRare และ Foundation ครับ
ส่วนของ Upbit เองก็ได้เปิดทดสอบระบบ NFT Marketplace ที่ประเทศเกาหลีไปในช่วงท้ายปีที่ผ่านมาครับ ซึ่งก็มีการทำผลงานร่วมกันกับศิลปินวงการ K-POP, นักวาดดิจิทัล, ทีมกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมายครับ
หลายโครงการ NFT ก็จะเปิดให้ทำการจองซื้อในตลาดแรก คล้ายๆ กับ IPO หรือ ICO ครับ ซึ่งผู้ที่สนใจก็ต้องติดตามข่าวและกิจกรรมของโครงการ ซึ่งมักจะประกาศผ่านทวิตเตอร์และดิสคอร์ด ว่าจะเปิดให้ทำการซื้อเมื่อไหร่ ซึ่งขั้นตอนนั้นจะเรียกในวงการว่า minting เพราะเป็นการนำเหรียญคริปโทมาแลกเพื่อสร้างโทเคนใหม่ไปเลยครับ
อนาคตของ NFT
ปัจจุบันการซื้อขาย NFT ยังเป็นเพื่อทั้งการเก็งกำไรและการสะสมเสียมาก บางโครงการก็ได้เพิ่มถ้าคุณถือ NFT ของโครงการก็จะได้สิทธิประโยชน์ (คล้ายกับ Utility Token) เช่น เอกสิทธิ์ในการซื้อสินค้าจากโครงการ การเข้าร่วมงานเลี้ยง หรือจะเป็นสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลหรือสื่อที่ให้เฉพาะผู้ถือโทเคนรับชมได้
ส่วนอนาคตของ NFT นั้น โดยมากจะเป็นนำไปใช้ในแพลตฟอร์มความบันเทิงรูปแบบอื่น เช่น เกมออนไลน์หรือโลก Metaverse ลองนึกภาพว่าคุณซื้อวานร BAYC มาสักตัวแล้วนำไปใช้เป็นร่างอวตารของคุณในเกมได้นะครับ และอีกแนวก็จะเป็นการผูกกับสินทรัพย์ในโลกจริง (โลกทางกายภาพ) ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด รูปปั้น หรือจะเป็นของสะสมอย่างนาฬิกา หรือจะผูกกับเอกสารก็เป็นได้ครับ