“Regulatory Sandbox : ก.ล.ต. เปิดพื้นที่พัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนไทย”
ก.ล.ต. เปิดโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “Digital Asset Regulatory Sandbox” ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถทดสอบการให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ลงทุนจริงได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ก.ล.ต. กำหนด
วันนี้มี “ข่าวดี” มาบอกครับ! สำหรับผู้มีแนวคิด มีไอเดีย ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการให้บริการในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะตอนนี้ ก.ล.ต. เปิดโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “Digital Asset Regulatory Sandbox” ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถทดสอบการให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ลงทุนจริงได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งยืดหยุ่นกว่าหลักเกณฑ์ปกติครับ
ผู้เข้าร่วมโครงการต้อง...
...ต้องนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดทุนไทย เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนไทย ตลาดทุนไทย หรือเข้าร่วมโครงการทดสอบกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดเงิน
...ต้องให้บริการในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6 ประเภท ต่อไปนี้ คือ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย ผู้ค้า ผู้จัดการเงินทุน ที่ปรึกษา และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้เข้าร่วมโครงการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับใบอนุญาตในปัจจุบัน
...ต้องมีผลการศึกษา หรือ ผลการวิจัยที่แสดงได้ว่ามีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการ
...ต้องมีความพร้อม ทั้งด้านเงินทุน ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอ มีการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยง พร้อมให้บริการตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ และมีแผนรองรับการออกจากโครงการ (exit strategy) ที่ชัดเจน
...ต้องให้บริการในวงจำกัด เช่น จำกัดจำนวนผู้ลงทุน ประเภทผู้ลงทุน วงเงินในการทำธุรกรรม เพื่อลดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ลงทุน หรือ ตลาดทุนในวงกว้าง
แม้ว่า ในช่วงที่อยู่ในโครงการจะมีการกำกับดูแลการให้บริการที่ยืดหยุ่นกว่า “การให้บริการภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” แต่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีระบบงานและการให้บริการลูกค้าตามเงื่อนไขที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น ประเมินความเหมาะสมในการให้บริการแก่ลูกค้าแต่ละราย เก็บรักษาความลับของลูกค้า มีมาตรการป้องกันผู้บริหารและพนักงานหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ มีระบบการจัดเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังกำหนดเวลาในการทดสอบของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรายไว้ไม่เกิน 1 ปี เพราะประเมินว่าน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถทดสอบการให้บริการได้ครบกระบวนการ แต่หากจำเป็นต้องใช้เวลาทดสอบนานกว่า 1 ปี ก็ยังสามารถยื่นขอขยายอายุการดำเนินโครงการต่อไปได้อีก และหากการทดสอบประสบความสำเร็จก็สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามปกติ ให้บริการได้เต็มรูปแบบครับ
ผู้ลงทุนที่สนใจใช้บริการที่อยู่ระหว่างการทดสอบต้อง...
...ต้องรับทราบว่าบริการที่ทดสอบอยู่ภายใต้โครงการ Digital Asset Regulatory Sandbox จะมีการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น ซึ่ง ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ให้บริการภายใต้โครงการนี้ ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วยว่าเป็นบริการที่มีข้อจำกัด ความเสี่ยง และเงื่อนไขที่แตกต่างจากบริการปกติของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาต และต้องได้รับการยินยอมจากลูกค้า
...ต้องศึกษารายละเอียด ลักษณะ และข้อจำกัดของบริการที่จะได้รับก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ
หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้ามาขอคำปรึกษาประมาณ 2 – 3 รายแล้วครับ จากหลากหลายรูปแบบการประกอบธุรกิจ ทั้งการเป็นศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นมีทั้งบริการที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่มีข้อจำกัด บางรูปแบบสามารถทดสอบเพื่อพิจารณาแนวทางการให้บริการได้
สำหรับผู้สนใจยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ [email protected] ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้มีกำหนดปิดรับการเข้าร่วมครับ ดังนั้น เมื่อใดที่มีแนวคิดนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับ ก.ล.ต. เพื่อร่วมกันพัฒนา และส่งเสริมไอเดียการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอันจะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาตลาดทุนต่อไป
ก.ล.ต. คาดหวังว่า โครงการ Digital Asset Regulatory Sandbox นี้ จะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาบริการที่หลากหลาย โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ ส่งเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการ และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังสามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไปได้ด้วยครับ
มาถึงตรงนี้ขอเล่าถึงงานด้านการพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเห็นความสำคัญและความจำเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนตลาดทุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
เมื่อปี 2560 ก.ล.ต. ได้เปิดโครงการทดสอบนวัตกรรม หรือ “Regulatory Sandbox” เพื่อรองรับการให้บริการเกี่ยวกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และเมื่อปี 2563 ได้เพิ่มประเภทธุรกิจให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมในตลาดทุน ครั้งนี้จึงเป็นการขยายขอบเขตของโครงการเดิมให้ครอบคลุมถึงการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ในช่วงปลายปี 2562 ก.ล.ต. ได้ริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย และได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือในการพัฒนาระบบ DIF Web Portal ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย
เมื่อปี 2566 ก.ล.ต. ได้เปิด Sandbox เพื่อทดสอบการใช้งานระบบ DIF Web Portal และนำมาสู่การให้บริการ Digital Infrastructure for Capital Market รองรับการเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการในตลาดแรก ซึ่งได้นำร่องออกเสนอขายกลุ่มแรกไปเมื่อเดือน พ.ค. 2566 และยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่กระบวนการและผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่น ๆ ต่อไป เช่นเดียวกับการพัฒนานวัตกรรมตลาดทุนในทุก ๆ ด้านที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. ครับ