ระวัง สิ้นสุดทางเลื่อน
เข้าสู่ไตรมาส 4 ตัวเลขเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นไปอย่างที่เรามองมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจโลกในหลายเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณแย่ลง
เงินเฟ้อเริ่มลดลงแม้ยังคงตัวในระดับสูง แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ภาคการเงิน รวมถึงโอกาสที่ตลาดเกิดใหม่จะเกิดวิกฤตมีสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเริ่มลดลง นอกจากนั้น ปัญหาการเมืองโลกจะเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้นในระยะต่อไป
ในยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มส่งสัญญาณแย่ลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน รวมถึงของประเทศขนาดใหญ่ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ เริ่มชะลอลงชัดเจนขึ้น โดยทุกตัวอยู่ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50 ขณะที่หลายตัวยังคงลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ในส่วนของสหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจจริงยังขยายตัวได้แต่ชะลอลงแรงขึ้น โดยยอดค้าปลีกสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณไม่ขยายตัว ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐชะลอต่อเนื่องแต่ยังสูงกว่าตลาดคาด โอกาสการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยมีสูงขึ้น ภาพดังกล่าวทำให้หลายสำนักวิจัย เช่น Bloomberg ให้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในปีหน้าที่ 100%
ขณะที่ผลสำรวจนักลงทุนของ Bank of America พบว่านักลงทุนมีมุมมองแง่ลบต่อการลงทุนหุ้นสูงสุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อปี 2002 ซึ่งความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงขึ้นนั้น สอดคล้องกับ IMF ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงเหลือ 2.7% จาก 2.9% พร้อมส่งสัญญาณกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
ในส่วนของประเทศอื่น จะเห็นว่าความเสี่ยงด้านการเมืองรุนแรงขึ้นทั้งสิ้น ในส่วนของจีน หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สนับสนุนประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต่ออายุสมัยที่สาม ขณะที่คณะกรรมการเมืองหรือ politburo จะเป็นคนวงในของสีเป็นส่วนใหญ่ บ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนยุคต่อไปจะเน้นนโยบายด้านเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจนำหน้า
ขณะที่ให้นโยบายการเติบโตของเศรษฐกิจและการเปิดเสรีต่างๆ เป็นเรื่องรอง โดยจะยังเน้น 3 นโยบายหลัก คือ (1) common prosperity หรือเน้นขยายตัวอย่างสมดุล ไม่เน้นการเติบโตอย่างเดียว (2) dual circulation หรือเน้นการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้าและ (3) zero Covid โดยยังไม่เปิดประเทศโดยสมบูรณ์จนกว่ามีการเปลี่ยนแปลง ภาพดังกล่าวทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะชะลอลง
ในฝั่งของอังกฤษ วิกฤติการเงินจากการที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ได้ประกาศแผนการลดหย่อนภาษี ทำให้เกิดวิกฤตการคลัง ผลตอบแทนพันธบัตรกระชากขึ้น และค่าเงินปอนด์อ่อนค่า จนทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญเสี่ยงต่อการขาด สภาพคล่องรุนแรง และทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้าสนับสนุนสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว โดยในที่สุด นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ก็ต้องประกาศลาออก หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ เจอรามี ฮันท์ ยกเลิกแผนการลดหย่อนภาษีของ รมว. คลังคนเดิมแทบทั้งหมด
นอกจากนั้น ในฝั่งของตลาดเกิดใหม่และประเทศในเอเชีย เผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินมากขึ้น โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลในเอเชียได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแล้ว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย. ในการปกป้องค่าเงิน ขณะที่ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศขยายกรอบซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินดองเพื่อยอมให้เงินดองอ่อนค่าได้มากขึ้น และได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 2% เพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่ามาก ส่วนทางการญี่ปุ่นส่งสัญญาณเข้าแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งแรกหลังทศวรรษที่ 90 หลังเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับจิตวิทยาที่ 150 เยนต่อดอลลาร์
เรามองว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการทำนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของ Fed ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงหลังไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้อยู่ ซึ่งภาพเหล่านั้นจะทำให้ภาคการเงินมีปัญหามากขึ้น โดยเราเชื่อว่า ปัจจุบัน ตลาดการเงินกำลังประสบปัญหาสองประการ กล่าวคือ (1) การขาดสภาพคล่อง (Illiquidity) หรือ (2) การล้มละลาย (Insolvency)
โดยปัญหาสภาพคล่องจะเกิดขึ้นก่อน เห็นได้จากกองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษ ที่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นจะต้องเผชิญกับการเรียกหลักประกัน (Margin call) ทำให้ต้องขายพันธบัตรมาจ่าย Margin call ดังกล่าว ทำให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงมาก จนทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาทำ QE อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การทำ QE คือการเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะต่อไป ความผันผวนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการดึงสภาพคล่องของ Fed และอาจนำมาสู่ความเสี่ยง Insolvency ได้ ซึ่งหากธนาคารกลางเข้ามาสนับสนุน ก็จะรอดได้ชั่วคราว แต่ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย/ ดึงสภาพคล่องออกมากขึ้น กดดันเศรษฐกิจและเพิ่มความผันผวนในระยะต่อไป
ด้านทิศทางเศรษฐกิจ เราเห็นด้วยกับ IMF ที่ว่าภาพเศรษฐกิจอาจยังไม่ชะลอลงแรงในปีนี้ แต่ในปีหน้าความเสี่ยงเศรษฐกิจจะมากขึ้น ทั้งจากความตึงตัวทางการเงินและนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาวิกฤตการเงินทั้งในสถาบันการเงินประเทศเจริญแล้วและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม เรามองว่าในปัจจุบันตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี เช่น การเติบโตที่ดี ทุนสำรองที่มากขึ้น และตลาดทุนในท้องถิ่นที่ลึกขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญคือการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะขึ้นจนกว่าจะเห็นหลักฐานชัดเจนว่าเงินเฟ้อกำลังลดลง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเสี่ยงเผชิญวิกฤตในปีหน้า
ทางเลื่อนของเศรษฐกิจกำลังมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย โปรดระวังสะดุดทางเลื่อน