การศึกษาการเงินช่วยประเทศได้อย่างไร
ช่วงนี้มีประเด็นเรื่องจริยธรรม เรื่องการคดโกง หลอกลวง เรื่องคนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางโซเชียลมีเดียหรือทางโทรศัพท์
และประเด็นถกเถียงกันเรื่องร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดความสงสัยว่าเราจะถูไถไปกันอย่างนี้ไหวหรือไม่ ในเมื่อโลกไปไกลเยอะแล้ว
ดิฉันไม่ได้เป็นผู้เขี่ยวชาญเรื่องเด็ก หรือพัฒนาการของเด็ก แต่ดิฉันเห็นว่า หากจะนำเรื่องเศรษฐกิจและการเงินไปสอนเด็กในช่วงที่ห้า หรือในวัย 12-15 ปี ตามที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มันจะช้าเกินไป
หากท่านผู้อ่านจำได้ ดิฉันเคยเขียนถึงความพยายามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสมัยที่ดิฉันเป็นกรรมการ เมื่อ 16-17 ปีก่อน ในการสนับสนุนให้นำเรื่องเศรษฐกิจและการเงินตั้งแต่ชั้นประถมปีที่หนึ่งจนถึงชั้นมัธยมปีที่หก ซึ่งไม่นานหลังจากเราจัดทำหลักสูตรเสร็จและจัดอบรมครูผู้สอนไปเป็นจำนวนมาก
ดิฉันในฐานะผู้แทนจากประเทศไทย มีโอกาสนำเสนอเรื่องการเพิ่มความรู้ทางด้านเศรษฐกิจและการเงินผ่านหลักสูตรในโรงเรียนนี้ ให้กับสมาพันธ์นักวางแผนการเงินโลก ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิก 26 ประเทศ และมีหลายประเทศสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวัน ซึ่งถึงกับขอนำหลักสูตรไปปรับใช้บ้าง และเราก็มอบให้ทั้งหลักสูตรและคู่มือสอนแก่เขา แจ้งว่าขอให้นำไปแปลเป็นภาษาจีนเอง ไม่นานเขาก็ทำสำเร็จ ใช้ทดลองสอนในบางโรงเรียนในปี 2011 และจัดเป็นหลักสูตรภาคบังคับทั่วประเทศในปี 2014 เป็นการสอน 9 ปี ในโรงเรียน ตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้นค่ะ (การศึกษาภาคบังคับของไต้หวันเท่ากับ 9 ปี)
เศร้าใจที่ผู้ใหญ่ของไทยไม่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ ณ ขณะนั้น กระทรวงศึกษาธิการแจ้งทางตลาดหลักทรัพย์ว่าไม่มีเวลาจัดเข้าไปในหลักสูตร จนทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้สร้างหลักสูตร ยังไม่มีการจัดสอนเป็นหลักสูตรภาคบังคับ ดิฉันเชื่อว่าหากเยาวชนไทยได้เรียนแล้ว โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากการที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกหลอกลวงโกงเงินจากโซเชียลมีเดีย หรือการดำเนินการหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่ ที่เสนอผลตอบแทนมาก หรือเงินกู้ ที่ให้กันได้ง่าย จนไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกนี้ และทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเสียหายจนถึงกับอยากปลิดชีวิตตนทิ้งไป จะไม่เกิดขึ้น
นอกจากเราต้องสอนเยาวชนของเราให้อยู่ในฝั่งรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพต่างๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัว ไม่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เราต้องอบรมจริยธรรมให้เยาวชนของเรา ไม่ให้โตขึ้นแล้วกลายเป็นฝั่งมิจฉาชีพด้วยค่ะ ที่สำคัญ ยังต้องดูแลเหยื่อเหล่านี้ไม่ให้รู้สึกอยากแก้แค้น และนำกลโกงเดียวกันไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ
พ่อครูแฮรีสแห่งโรงเรียนเก่าของดิฉัน คือ ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กล่าวถึงปรัชญาในการศึกษาว่า "การศึกษาคือการสร้างอุปนิสัย" ซึ่งเป็นความจริงที่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับต้องมีการตระหนักรู้ เราไม่สามารถสอนความรู้ทุกอย่างให้กับเยาวชนได้ เพราะความรู้มีมาใหม่อยู่เรื่อยๆ สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างอุปนิสัยการใฝ่หาความรู้ให้กับเยาวชน เพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ดิฉันเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพลเมืองของเราให้เป็นคนดี ต้องมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เห็นอกเห็นใจผู้อื่นว่า ผู้อื่นไม่ควรจะเดือดร้อนเพราะการกระทำของเรา พลเมืองของเราต้องไม่ดำรงชีพด้วยการทำการล่อลวง หลอกลวง หรือโกงผู้อื่น ในลักษณะมิจฉาชีพ หรือทุจริตคดโกง ต้องรังเกียจเงินที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง และผู้ที่คดโกงก็ควรจะถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้คนเอาเยี่ยงอย่าง เมื่อคนไม่ดีมีน้อยหรือหมดไป เมื่อนั้น ประเทศของเราก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น
การเรียนรู้เรื่องการเงิน จะทำให้เยาวชนเข้าใจและตระหนักว่า "เงินทองเป็นของมีค่า แต่ต้องทำงานเพื่อให้ได้มา ไม่มีวิธีลัดในการได้เงิน" และนอกเหนือจากพ่อแม่เราหรือครอบครัวของเราแล้ว ไม่มีใครใจดีให้เงินเราฟรีๆ เพราะ "ของฟรีไม่มีในโลก" ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบินฟรี โทรศัพท์มือถือฟรี ล้วนไม่มีทั้งสิ้น ที่เขาแจกให้ล้วนมีเงื่อนไข เช่น ต้องซื้อถึงขั้นต่ำเท่านี้ ต้องฝากเงินจำนวนสูงเท่านั้น ฯลฯ
ขอฝากคาถาป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อของภัยทางการเงิน 5 ข้อ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาจากหนังสือ "เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน" ต้องทำตัวเป็น "คนขี้สงสัย" เอาไว้ก่อน ดังนี้
1. พยายามคิดว่าสิ่งที่ผู้ชักชวนแจ้งว่าจะนำไปลงทุน หรือให้กู้นั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น บอกว่าเอาเงินไปซื้อน้ำมัน ซื้อเงินคริปโท ซื้อเงินตราต่างประเทศ ซื้อแล้วมีการส่งมอบหรือไม่ และนำไปฝากเก็บที่ไหน หรือให้เงินกู้แต่ต้องโอนเงินไปให้คนให้กู้ก่อนจึงจะเบิกเงินกู้มาได้ หรือลงทุนแล้ว ก่อนจ่ายผลตอบแทนให้ จะต้องนำเงินมาลงทุนเพิ่มอีก ฯลฯ เงื่อนไขแบบนี้ล้วนแต่น่าสงสัยทั้งสิ้น
2. ผู้ประกอบการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดหรือไม่ การมีหน่วยงานทางการกำกับ ก็ทำให้เราอุ่นใจได้บ้างว่า มีผู้ช่วยสอดส่องดูแล แต่คนร้ายแฝงตัวอยู่ในองค์กรดีก็มี เพราะฉะนั้น อย่าไว้ใจใครง่ายๆเพียงเพราะเขาสังกัดองค์กรมีชื่อเสียงเท่านั้น
3. ผลตอบแทนสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนใหญ่จะจูงใจด้วยผลตอบแทนสูงๆ เราทราบกันแล้วว่า ผลตอบแทนที่คาดหวังสูง ก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาด เพราะหากได้ตามที่คาดและได้แน่ๆ เราก็ต้องถือว่าเสี่ยงน้อย คนก็คงจะแห่กันมาลงทุนจนราคาเพิ่มขึ้น สุดท้ายผลตอบแทนก็จะลดลงเหลืออัตราธรรมดาๆ
4. ของฟรีไม่มีในโลก อย่าคิดและหวังว่าใครจะยอมเอาโอกาสดีพิเศษมาเสนอให้เราฟรี หากเขาสามารถลงทุนได้เอง เขาลงทุนเอง หรือเก็บไว้ใช้เอง ไม่ดีกว่าหรือ ทำไมต้องมาชักชวนเราให้ไปแบ่งกำไร หรือต้องเอาของฟรีมาแจกให้เราด้วย เพราะฉะนั้น เห็นโฆษณาอะไรฟรีๆตามเว็ป ไม่ต้องคลิกตามไปดูค่ะ อย่าโหลดแอพลิเคชั่นแปลกๆ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับใคร อย่าพาตัวเองเข้าไปติดกับดัก
5. ไม่โลภ ท่องเอาไว้ว่า "ต้องไม่โลภ" เวลาโลภแล้วจะหน้ามืดตามัว มองข้ามสิ่งที่น่าสงสัยไปหมด จนตกหลุมพราง
ความรู้ทางการเงิน จะช่วยให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี เกรงกลัวและละอายต่อบาป จะช่วยไม่ให้เกิดบุคคลประเภทมิจฉาชีพที่หากินบนความทุกข์ของผู้อื่น ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา จึงควรทบทวนเพื่อให้เราเดินไปอย่างถูกทาง