เรื่องวุ่นๆ กับหุ้นกู้ภาคอสังหาฯ เวียดนาม
นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม เป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ และประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเวียดนามด้วย เนื่องจากภาคอสังหาฯ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนคิดเป็น 12% ของ GDP เวียดนาม
ปัญหาในภาคอสังหาฯ ของเวียดนามนั้น มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่กลางปี 2565 เมื่อรัฐบาลควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ให้กับภาคอสังหาฯ เนื่องจาก กังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ ทำให้บริษัทอสังหาฯ หันไปออกหุ้นกู้แทน จึงนำไปสู่การที่รัฐบาลออกกฎหมาย Decree 65 เพื่อจัดระเบียบการออกหุ้นกู้ที่เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า ปัญหาในภาคอสังหาฯ เวียดนาม เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่จะกดดันภาวะตลาดหุ้นเวียดนามไปอีกระยะหนึ่ง
มีข่าวออกมาว่า บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในเวียดนาม ขอเลื่อนการชำระคืนหุ้นกู้ มูลค่า 1 ล้านล้านดอง ที่ครบกำหนดไถ่ถอน เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยขอเวลา 2 เดือน เพื่อหาทางจัดการหนี้ที่จะครบกำหนดชำระคืนให้หมด
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (HNX) เผยแพร่ประกาศ ว่า ช่วงไตรมาส 4/2565 – ไตรมาส 1/2566 มีบริษัท 54 แห่ง ใน HNX ที่แจ้งขอเลื่อนการชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทดังกล่าวอยู่ในภาคอสังหาฯ เนื่องมาจากปัญหาสภาพคล่องที่ลดลง หลังรัฐบาลควบคุมการปล่อยกู้ภาคอสังหาฯ รวมทั้งการปราบปรามการทุจริต ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมาย Decree 65
สำหรับ สิ่งที่ต้องจับตา คือ การครบกำหนดชำระไถ่ถอนหุ้นกู้โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาฯ ที่มีค่อนข้างมากในปีนี้ และการปรับปรุงร่างกฎหมาย Decree 65 ที่มีความเข้มงวดค่อนข้างมาก จึงทำให้กระทรวงการคลังของเวียดนามอยู่ระหว่างเตรียมผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางข้อ ซึ่งถือเป็นความหวังของผู้ประกอบการ ได้แก่ การอนุญาตให้บริษัทขยายอายุครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ออกไปถึง 2 ปี หากได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ อย่างน้อย 65% และให้ผู้ออกหุ้นกู้ ใช้สินทรัพย์อื่น นอกเหนือจากเงินสด เช่น ที่ดิน เพื่อจ่ายดอกเบี้ย หรือไถ่ถอนหุ้นกู้ได้
การปรับปรุงกฎหมายนี้มีเส้นตายภายในเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่รอความชัดเจนของกฎหมาย จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นกู้และตลาดหุ้น และเมื่อพิจารณาความเสี่ยงจากภาคอสังหาฯ บวกกับอัตราดอกเบี้ยของเวียดนามที่อยู่ในระดับสูง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 6% และคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 7% ส่วนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน อยู่ที่ 13-15% ซึ่งสูงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภค และเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจได้ ทำให้ SCB CIO ปรับมุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นเวียดนามลงจากเดิม Neutral เป็น Slightly negative
อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่า ปัญหาภาคอสังหาฯ น่าจะไม่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติ เนื่องจาก การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ภาคอสังหาฯ เป็นปัญหาเฉพาะบริษัทบางแห่ง ไม่ได้เกิดขึ้นกับทั้งระบบ โดยยังมีบริษัทที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สามารถกู้ยืมต่อได้ นอกจากนี้ โอกาสที่ปัญหาภาคอสังหาฯ จะลุกลามไปยังภาคธนาคารก็มีน้อยมาก เนื่องจาก ภาคธนาคารชะลอการปล่อยกู้ให้ภาคอสังหาฯ มาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ในระดับต่ำเพียง 2% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤติอสังหาฯ ของเวียดนามในปี 2011 ที่ NPLs อยู่ที่ 5%
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเสถียรภาพต่างประเทศของเวียดนาม พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้า อยู่ในระดับ 3 เดือน ใกล้เคียงกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนดไว้ ซึ่งไม่สูงนัก แต่ยังไม่วิกฤติ ขณะที่ ตัวเลขหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 40% เป็นระดับที่น่าจะจัดการได้ เพราะปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลอีกครั้ง ส่วนการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ก็เป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ จึงไม่น่าเป็นห่วง
หากพิจารณามูลค่าตลาดหุ้นเวียดนาม ราคาต่อกำไรต่อหุ้น อยู่ที่ 9.6 เท่า ถือว่าเป็นระดับราคาที่ไม่แพง โดยปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามเคยซื้อขายต่ำสุด 9.1 เท่า และตลาดอยู่ท่ามกลางแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนที่หดตัว โดยไตรมาส 4/2565 กำไรหดตัว 22% ขณะที่กำไรในปี 2566 มีโอกาสฟื้นตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและดอกเบี้ยเวียดนามที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เริ่มเห็นเงินทุนไหลออกในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด ดังนั้นโดยรวมแล้ว ตลาดหุ้นเวียดนาม จึงไม่ใช่ตลาดที่แนะนำให้เข้าลงทุนในระยะสั้น