ก้าวต่อไปหลังเหตุการณ์ SVB ถึง CS
จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ลุกลามนั้น ได้กลายเป็นดาบสองคมที่เริ่มบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ซึ่งล่าสุด ระบบของธนาคารสหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากกรณีนักลงทุนและผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นต่อความอยู่รอดของธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก
เริ่มจากการปิดกิจการของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่มีสาเหตุจากกลุ่ม Venture Capital และกลุ่ม Startup ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธนาคาร ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จึงจำเป็นต้องถอนเงิน เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ทำให้ SVB เกิดปัญหาสภาพคล่อง และจำเป็นต้องขายพันธบัตรเพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้วยมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเกิดการขาดทุนราว 1.8 พันล้านดอลลาร์
ซึ่งผลการขาดทุนนี้ ก็เกิดมาจากมูลค่าตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดอย่างมาก อันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั่นเอง ท้ายที่สุด SVB จำเป็นต้องประกาศเพิ่มทุน 2.25 พันล้านดอลลาร์เพิ่มเติม ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความกังวลและเกิดการถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเนื่องไปในธนาคารขนาดเล็กอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น Silver gate หรือ Signature ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเช่นเดียวกัน
โดยในวันที่ 10 มี.ค. Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันรัฐที่ดูแลการคุ้มครองเงินฝาก ได้สั่งระงับกิจการ SVB และเข้าควบคุมกิจการและเป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ระบบธนาคารของสหรัฐฯ ต่อมาเฟด ได้ประกาศจัดตั้ง BTFP (Bank Term Funding Program) เพื่อปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 1 ปีให้แก่สถาบันการเงินที่ต้องการความช่วยเหลือ
โดยใช้สินทรัพย์ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล วางเป็นหลักประกัน และจะถูกตีมูลค่าที่ราคาพาร์ ทำให้ไม่ต้องรีบเร่งขายขาดทุนออกมาโดยในเริ่มแรกเฟด ได้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้สภาพคล่องในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ภายหลังจากกรณีการปิดกิจการของธนาคาร SVB ไม่นาน ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารจากสหรัฐฯเริ่มลุกลามไปยุโรป อันได้แก่ กรณีของ Credit Suisse(CS) ที่ถูกนักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก หลังจากSaudi National Bank ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ CS ประกาศไม่สามารถเพิ่มทุนให้กับ CS ได้อีก เนื่องจากถือหุ้นตามเกณฑ์สูงสุดที่ 10% แล้วสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนว่า CS จะล้มละลายและปิดตัวลงเหมือนกรณี SVB ในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบกันระหว่าง 2 ธนาคารจะเห็นได้ว่า กรณีของ CS มีความซับซ้อนและอาจมีผลกระทบที่กว้างกว่ามาก ในกรณีของ SVB มีปัญหาด้านสภาพคล่องเงินสดไม่พอจ่ายให้คนที่มาถอน ทำให้ต้องเร่งขายตราสารหนี้ออกมาจนเกิดผลขาดทุน
ในขณะที่ CS มีปัญหาภายในมาตั้งแต่หลังวิกฤตb Sub prime ธุรกิจ Investment Banking ขาดทุน และมีความพัวพันเรื่องฟอกเงิน โดยเฉพาะในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาขาดทุนหนักจากการปล่อยกู้ผิดพลาดขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารทำให้ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากออกไปจำนวนมาก
โดยในปี 2565 ปริมาณเงินฝากในธนาคารCS ปรับตัวลดลงไปกว่า 40% YoY และราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ทั้งนี้CS เป็นธนาคารที่มีอายุยาวนานกว่า 167 ปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสวิสเซอร์แลนด์ มีสินทรัพย์มูลค่า 5.75 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารที่ Too big to fail คือมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยล้มได้ นอกจากนั้นยังมีความกังวลเกี่ยวกับ Counterparty risk ซึ่งผลกระทบค่อนข้างกว้าง
ดังนั้น ธนาคารกลางสวิส (Swiss National Bank, SNB) และผู้กำกับสถาบันการเงินสวิส (FINMA) จึงเข้ามาอุ้ม CS และปล่อยเงินกู้ให้กว่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจาก SNB ยังเป็นตัวกลางเจรจาให้ UBS เข้ามาซื้อกิจการ CS ในราคา 3.25 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 60%
อย่างไรก็ดีหนึ่งในเงื่อนไขของการควบรวม SNB ได้ปรับลดราคา หุ้นกู้ AT1 (Additional Tier1) หรือ COCO (Contingent Convertible Bond) หรือหุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไขของ CS จากมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ ลงมาให้เหลือศูนย์ ได้สร้างกังวลใจให้แก่นักลงทุนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นธนาคารในยุโรปยังมีความผันผวนอยู่มาก เนื่องจากความกังวลว่าในอนาคตนักลงทุนอาจจะต้องได้รับผลกระทบขาดทุนเหมือนในกรณีการควบรวมกิจการของ CS
ในระยะถัดไป อาจยังต้องติดตามสถานการณ์ในภาคการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรป สำหรับในกรณีของสหรัฐฯ ต้นตอของปัญหาเกิดจากสภาพคล่องในระบบธนาคาร จากการที่ธนาคารต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
ในขณะที่เฟดก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินไปอยู่ในกองทุนตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารอาจจะมีความเสี่ยงที่จะต้องขายสินทรัพย์เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ
ด้านกรณีของธนาคารในยุโรป การออกขายสินทรัพย์ประเภท AT1 ซึ่งเป็นที่นิยมอยากมากในช่วงที่ผ่านมา จะมีความยากขึ้นมาก ถ้าจะต้องออกขายตราสารประเภทนี้อีก ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้สินทรัพย์การลงทุนยังมีความผันผวนได้สูงในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม คาดว่าความเสี่ยงในระบบธนาคารรอบนี้ จะไม่ลุกลามใหญ่โตจนเกิดเป็นวิกฤติการเงินเหมือนช่วงปี 2008 เนื่องจากประการแรก ความแข็งแกร่งของระบบธนาคารในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงขึ้น หลังจากวิกฤติในอดีตส่งผลให้การบริหารความเสี่ยงและกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐมีความเข้มงวดมากขึ้น ประการที่สองคือ การมีบทเรียนจากวิกฤตในอดีตที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาควบคุมปัญหาอย่างรวดเร็วไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ในแง่ของการลงทุนหัวใจหลักที่จะทำให้นักลงทุนก้าวผ่านความผันผวนไปได้ก็คือ การกระจายการลงทุน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ และสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงในระยะสั้นได้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว การปรับตัวลดลงของสินทรัพย์เสี่ยง ก็อาจเป็นโอกาสในการทยอยสะสม เนื่องจากหากสามารถเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลงได้ก็หมายความว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน