Credit Default Swap เครื่องมือสะท้อนความเสี่ยงเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ

Credit Default Swap เครื่องมือสะท้อนความเสี่ยงเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ

ท่ามกลางปัญหาภาคธนาคารและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกหนึ่งปัญหาที่รอคอยนักลงทุนอยู่คือเรื่องของเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ (Debt Ceiling) ที่ทั้งสองพรรค ได้แก่ เดโมแครตและรีพับริกัน ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนที่วัน “X-Date” ซึ่งคือวันที่รัฐบาลเริ่มจะไม่สามารถชำระหนี้ต่างๆ

โดยล่าสุดการเก็บภาษีที่ต่ำกว่าคาดในเดือน เม.ย. อาจจะทำให้วันดังกล่าวมาถึงเร็วกว่าคาด ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงต้นเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบกับเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางถึงท้ายของเดือน มิ.ย. โดยหากยังตกลงกันไม่ได้ และเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของทุกภาคส่วนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้

ผลกระทบในระหว่างนี้ที่ยังคงรอบทสรุป ก็จะทำให้ตลาดการเงินมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งในส่วนของตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารทุนที่ความไม่แน่นอนจะทำให้ตลาดผันผวนขึ้นลงรุนแรงมากขึ้น

 

ทำให้ในช่วงเวลาแบบนี้ตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า Credit Default Swap (CDS) กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดยนอกจากจะใช้สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ยังสามารถช่วยให้เราติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและสะท้อนความกังวลของตลาดการเงินโดยตรงต่อปัญหาดังกล่าวได้ด้วย

Credit Default Swap หรือ CDS เป็นรูปแบบของตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ทางการเงินชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตกลงกันของผู้ซื้อประกันความเสี่ยงเครดิต (Protection Buy) และผู้ขาย (Protection Seller) โดยอิงกับตราสารอ้างอิง (Underlying) ที่ตกลงกันไว้ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ หุ้นกู้เอกชน เพื่อคุ้มครองความเสียหายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทางการเงินตามที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default)

โดยผู้ซื้อจะจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้กับผู้ขายที่เรียกกันว่า CDS Spread นั่นเอง ซึ่งตัว Spread นั่นจะสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารอ้างอิงที่ตกลงกันไว้ โดย CDS เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารและนักลงทุนสถาบันต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้บริหารความเสี่ยงของการลงทุนได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย CDS Spread จะเป็นตัวสะท้อนมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ได้ดี เช่น หาก CDS Spread ปรับเพิ่มสูงขึ้น (ต่ำลง) ก็แสดงว่าต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น เป็นตัวสะท้อนมุมมองว่าสินทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวนั้นมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้ความเสี่ยงของการผิดนัดสูงขึ้น (ต่ำลง)

นอกจากนี้ CDS Spread ยังเป็นการซื้อขายรายวันทำให้การเปลี่ยนแปลงนั่นเกิดขึ้นได้เร็วกว่าอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อีกด้วย ส่วนการหาข้อมูลในฐานะนักลงทุนทั่วไปนั้นก็ทำได้ไม่อย่างเนื่องจากในแหล่งข้อมูลทางการเงินชั้นนำก็มีข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว

โดยล่าสุด CDS Spread อายุ 5 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 76.98 bps (หรือ 0.7698% ข้อมูลจาก Bloomberg) เพิ่มขึ้นจากต้นเดือน เม.ย. ที่อยู่ที่ระดับ 50 bps และสูงกว่าช่วงปี 2011 ที่ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ลงเสียด้วยซ้ำ หรือหากมองสั้นกว่านั้น

CDS Spread อายุ 1 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 176.34 bps เทียบกับต้นเดือน เม.ย. ที่อยู่ใน่ชวง 90 bps โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะนั้นปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในมุมมองของนักลงทุน แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ปัญหาดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามต่อตลาดการเงินทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของตลาดการเงินโลก และจะส่งผลกระทบต่อตลาดอื่นๆ ด้วยในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ หากแม้ในท้ายที่สุดเพดานหนี้สาธารณะจะถูกปรับเพื่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ จากการตกลงกันได้ของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นเกิดจากการลดงบประมาณบางส่วน หรือการขึ้นภาษีเพิ่มเติม หรือทั้งสองส่วนร่วมกัน แต่ก็จะเป็นจังหวะเวลาที่ดูสุ่มเสี่ยงไม่น้อยเนื่องจากนโยบายการคลังที่จะขาดดุลน้อยลงย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอยจะปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ และนโยบายการเงินที่อาจจะไม่ยืดหยุ่นเท่าไรนักหากเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลดลง

ในฐานะนักลงทุน ภายใต้ความเสี่ยงที่มีอยู่ทำให้การลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังสูง และเลือกการลงทุนที่ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาของความไม่แน่นอนดังกล่าวไปได้ และแม้จะมีความเสี่ยงหลายอย่างที่รออยู่ แต่หากราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ก็อาจจะเกิดจังหวะของการลงทุนที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะยาวก็เป็นไปได้ ซึ่งก็คงต้องคอยติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด