ธนาคารกลางซื้อทองคำไปทำไม ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียวหรือไม่
ในช่วงหลังประเทศต่างๆ เริ่มสะสมทองคำกันมากขึ้น เช่น จีนกับธนาคารกลางของประเทศจีน (People’s Bank of China) ที่เพิ่มการถือครองทองคำต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือน พ.ย. 2022 เป็นต้นมา
รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น สิงคโปร์ ตุรกี อินเดีย เป็นต้น จากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน เงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี 2023 ที่ 2,075.47 ดอลลาร์ ต่อ ทรอยออนซ์
ในขณะที่ทั้งปี 2022 ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มการลงทุนในทองคำทั้งหมด 1,078.67 ตัน และยังต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกปีนี้อีก 228.4 ตัน จนทำให้หลายๆ คนคาดว่าทองคำจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบเงินของเศรษฐกิจโลก วันนี้เราลองมาพิจารณากัน ว่ามีเหตุผลใดบ้างที่ทำให้ประเทศต่าง เพิ่มการลงทุนในทองคำ และเหตุผลเหล่านั้นเพียงพอที่จะทำให้ราคาทองคำรวมถึงการสะสมทองคำของธนาคารกลางต่างๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่
ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเงินสำรองทางการหรือกองทุนอื่นๆ ของภาครัฐ เงินสำรองทางการเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางดูแลค่าเงินให้อยู่ในกรอบหรือความผันผวนที่ต้องการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบเศรษฐกิจ โดยเมื่อมีการแทรงแซงค่าเงินในกรณีที่เงินท้องถิ่นแข็งค่า ก็จะมีการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อลดแรงกดดัน
ทำให้เงินสำรองทางการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากได้เงินตราต่างประเทศมาแล้วก็ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ตอบจุดประสงค์ที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ การกระจายความเสี่ยง หรือตอบโจทย์ด้านอื่นๆ ที่ต้องการทั้งภาครัฐฯ และธนาคารกลาง ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ
โดยทองคำเป็นที่นิยมที่จะถือครองเป็นสินทรัพย์หนึ่งของเงินสำรองทางการ และการซื้อหรือขายทองคำสามารถเกิดได้ในหลายๆ กรณี เช่น (1) การเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว (Strategy Asset Allocation) หรือระยะสั้นถึงกลาง (Tactical Asset Allocation) (2) การปรับสัดส่วนขององค์ประกอบของเงินสำรองทางการให้เหมาะสมเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ (Rebalance) เช่น ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาก
ก็อาจจะทำให้สินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์มีสัดส่วนสูงขึ้นโดยอัตโนมัติจากระดับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นและเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ต้องมีการปรับสัดส่วนให้เหมาะสมด้วยการขายสินทรัพย์ดอลลาร์ สรอ. และซื้อสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งอาจจะรวมทองคำด้วย หรือแม้แต่ (3) การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองทางการจากการดูแลความผันผวนของค่าเงิน ก็จะทำให้ต้องมีการนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติมและหากทองคำเป็นสัดส่วนหนึ่งในนั้นก็จะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ อีกประการหนึ่งคือสภาพคล่องของราคาทองคำนั้นอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้การซื้อหรือขายไม่ส่งผลกระทบต่อราคามากนัก เนื่องจากเงินสำรองทางการนั้นส่วนมากจะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่
โดยตลาดซื้อขายทองคำมีขนาดตลาดราว 5 ล้านล้านดอลลาร์เทียบกับตลาดของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ราว 22.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก World Gold Council) และสัดส่วนของการถือทองคำในเงินสำรองทางการก็มีลักษณะแตกต่างกันไปมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายของการบริหาร เช่น จีนมีการลงทุนในทองคำคิดเป็น 3.9% ของเงินสำรองทางการทั้งหมด 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรืออินเดียอยู่ที่ 8.7% ของเงินสำรองทางการทั้งหมด 0.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2023) อย่างไรก็ตามทองคำมีข้อด้อยอย่างหนึ่งก็คือการที่ไม่มีกระแสเงินสดที่ได้รับระหว่างการลงทุนแตกต่างจากตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ย หรือตราสารทุนที่มีเงินปันผลให้กับนักลงทุน โดยผลตอบแทนที่จะได้คือเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว
กระจายความเสี่ยง ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เราเรียกว่า Safe-Haven Asset ยอดนิยม เนื่องจากการที่เชื่อว่าทองคำนั้นมีจำนวนจำกัด ไม่มีการแทรกแซงจากทางการ และเป็นที่ยอมรับสำหรับการเป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ทองคำยังเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงจากเงินดอลลาร์ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตามปรกติทองคำจะถูกตีราคาในรูปของดอลลาร์
นอกจากนั้นความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการกระจายการถือครองสินทรัพย์ของประเทศใดประเทศหนึ่งมาเป็นทองคำแทน และความพยายามที่จะลดการพึ่งพาหรือลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป เช่น ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ป้องกันเงินเฟ้อ(Inflation Hedge) อีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้ธนาคารกลางเพิ่มการถือครองทองคำ คือ เรื่องของเงินเฟ้อ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ชดเชยความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดีและทองคำมักจะทำได้ดีในช่วงที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงเนื่องจากจุดเด่นด้านจำนวนของอุปทานที่มีจำกัดทำให้โอกาสที่จะด้อยมูลค่าลงเหมือนเงินสดนั้นน้อยกว่า
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการซื้อขายทองคำของธนาคารกลางต่างๆ เกิดจากหลากหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีทั้งคาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้เนื่องจากเป็นเรื่องภายใน และบางครั้งก็ไม่ได้เป็นปัจจัยเกี่ยวกับตลาดการเงินอย่างเดียว ทำให้ผลกระทบต่อตลาดการเงินรวมถึงราคาทองคำนั้นอาจจะน้อย ไม่นับว่าข้อมูลการซื้อขายเป็นข้อมูลย้อนหลัง ทำให้ข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อราคาในอนาคตเท่าใดนัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของทองคำในการบริหารพอร์ตฟอลิโอทั้งจากมุมผลตอบแทนและความเสี่ยงได้ดีครับ
หมายเหตุ: บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด