เปิด 3 เหตุผลเบื้องหลัง ‘ไทย’ แห่ตุน ‘ทองคำ’ มากสุด รองจากจีน!
ไทย และมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างจีน ต่างพากันสะสมทองคำจำนวนมากในช่วงนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าสะสมทองสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ขับเคลื่อนการตัดสินใจนี้
Key Points
- “ไทย” เข้าตุนทองคำเพิ่มขึ้น 60% จาก 152.41 ตันในปี 2556 มาอยู่ที่ 244.16 ตันในสิ้นปี 2565 มากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน
- ช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปปี 2552-2554 ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 52% นับตั้งแต่สิ้นปี 2552
- เงินดอลลาร์เสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ จากเมื่อปี 2456 เงิน 1 ดอลลาร์เคยมีอำนาจการซื้อของสูงถึง 26.14 ดอลลาร์ แต่กลับเสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ จนมีอำนาจการซื้อเพียง 1 ดอลลาร์ในปี 2563
- UBS Group AG มองว่า ธนาคารกลางจีนแห่ตุนทองคำช่วงนี้ เพราะทุนสำรองประเทศในสัดส่วนทองคำยังคงน้อย จึงเลือกกระจายทุนสำรองจากดอลลาร์เป็นทองคำมากขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ สภาทองคำโลกรายงานว่า “ไทย” เข้าตุนทองคำเพิ่มขึ้น 60% จาก 152.41 ตันในปี 2556 มาอยู่ที่ 244.16 ตันในสิ้นปี 2565 มากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน
ขณะที่ “จีน” ก็เข้าถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 90.73% จาก 1,054 ตันในปี 2556 มาอยู่ที่ 2,010 ตันในสิ้นปี 2565 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย
นอกจากนี้ยังมีการแห่เข้าตุนทองคำของประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่งผลให้ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดที่ 2,080 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจว่า ปัจจัยเบื้องหลังอะไรที่อาจทำให้ไทยและจีนแห่มาตุนทองคำในช่วงนี้
- 'ทองคำ' สินทรัพย์ล้ำค่าตั้งแต่ยุคโบราณ (เครดิต: shutterstock) -
3 ปัจจัยที่ทำให้ไทยและจีน แห่ตุนทองคำ
- 1. ทองคำ หลุมหลบภัยจากวิกฤติเศรษฐกิจและสงคราม
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติทางการเงิน หรือยามสงคราม ผู้คนมักนำความมั่งคั่งตัวเองมาอยู่ในรูปสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ”
ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุจุดแข็งของทองคำว่า ในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ทองคำเป็นสินทรัพย์เดียวราคาสูงขึ้น 4% ในปีนั้นหรือเพิ่มขึ้น 18% นับตั้งแต่ปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ปี 2550
นอกจากนี้ ช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปปี 2552-2554 ราคาทองคำก็เพิ่มขึ้น 52% นับตั้งแต่สิ้นปี 2552
เมื่อมองกลับมาที่ปัจจุบัน ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐที่อาจลุกลามมายังเอเชีย สงครามรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งจีนและสหรัฐที่ยังคงตึงเครียดต่อเนื่อง การเพิ่มสัดส่วนถือครองทองคำของจีนและไทย อาจเพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งที่อาจบานปลายในอนาคตก็เป็นได้
- 2. สินทรัพย์ทางเลือก เมื่อธนบัตรเสื่อมค่าจากเงินเฟ้อ
ในปัจจุบัน เงินเฟ้อทั่วโลกกำลังอยู่ในระดับสูง แม้จะค่อย ๆ ปรับตัวลงมา แต่ยังคงอยู่ระดับสูงเกินมาตรฐาน 2% ดังนั้นทองคำอาจเป็นสินทรัพย์สำคัญในการรักษามูลค่าได้ เมื่อเทียบกับมูลค่าธนบัตรที่ปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ
- เมื่อเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น การซื้อสินค้าต้องใช้เงินมากขึ้นตามไปด้วย (เครดิต: Freepik) -
โกวินด์ ภูทาดา (Govind Bhutada) นักเขียนของบริษัท Visualcapitalist ด้านการนำเสนอข้อมูลทางเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เงินดอลลาร์เสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ จากเมื่อปี 2456 เงิน 1 ดอลลาร์เคยมีอำนาจการซื้อสินค้าสูงถึง 26.14 ดอลลาร์ แต่กลับเสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ จนมีอำนาจการซื้อเพียง 1 ดอลลาร์ในปี 2563
- เงินดอลลาร์กำลังมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ (เครดิต: Freepik) -
ในขณะที่ราคาทองคำเมื่อปี 2544 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว อยู่ที่ราคา 270 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ราคาทองคำขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 2,080 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 670% ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดวันที่ 10 พ.ค. ปีเตอร์ ชิฟฟ์ (Peter Schiff) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ทวีตว่า การที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนานชาวอเมริกันมองว่า ยังไม่มีเงินสกุลใดมาแทนที่ “ดอลลาร์” ได้ นั่นเพราะเขามองไปผิดจุด แทนที่จะมองไปที่ “ทองคำ” นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมทั่วโลกจะกลับมาพึ่ง “ทองคำ” ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้จริง
- ปีเตอร์ ชิฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ (เครดิต: SchiffGold) -
- 3. ตัวค้ำทุนสำรองระหว่างประเทศ
ก่อนที่ทั่วโลกจะใช้ธนบัตรกระดาษจนแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน มนุษย์ในสมัยก่อนใช้ “ทองคำ” เป็นสื่อกลางแทนธนบัตร เพราะทองคำเป็นแร่ที่ “ไม่หายากจนเกินไป” เหมือนพลูโทเนียม หรือเพชร และ “ไม่หาง่ายจนเกินไป” เหมือนก้อนหิน อีกทั้งทนทานต่อความร้อนจากไฟ การกัดกร่อนของกรดด่าง และไม่ขึ้นสนิม จึงกลายเป็นแร่ชนิดเดียวที่มนุษย์ใช้ค้ำมูลค่าของเงิน
ทุกครั้งที่ธนาคารกลางจะพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมา ซึ่งเป็นเพียงกระดาษพิเศษ จำเป็นต้องมีทองคำค้ำประกัน ยิ่งมีทองคำหนุนหลังมากขึ้นเท่าใด จำนวนธนบัตรที่พิมพ์ออกมาได้ก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มูลค่าของกระดาษพิเศษที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาจากทองคำที่ค้ำประกัน ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางเลือกถือครองเพิ่ม หากมูลค่าธนบัตรเสื่อมค่าลง
นอกจากนี้ ท่ามกลางการตอบโต้ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมไปถึงสหรัฐและพันธมิตรได้ยึดทุนสำรองของรัสเซียที่ฝากไว้ เพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียบุกยูเครน
ดังนั้น หลายประเทศจึงเลือกกระจายความเสี่ยงจากสกุลเงินสหรัฐ มาอยู่ในสินทรัพย์อื่นมากขึ้น และสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าตัวเองได้ดีและเทียบชั้นดอลลาร์ได้ ก็หนีไม่พ้น “ทองคำ”
อีกทั้งทองคำก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนฝ่ายใดในการเมืองโลกเหมือนสกุลดอลลาร์กับสกุลหยวน
จิโอวานนี สเตาโนโว (Giovanni Staunovo) นักวิเคราะห์ของธนาคาร UBS Group AG แสดงความเห็นว่า ธนาคารกลางจีนแห่ตุนทองคำช่วงนี้ อาจเพื่อกระจายทุนสำรองประเทศออกจากดอลลาร์ และทุนสำรองในสัดส่วนทองคำยังคงน้อยอยู่ จึงยังมีพื้นที่ที่จีนสามารถเปลี่ยนจากธนบัตรดอลลาร์มาเป็นทองคำได้มากขึ้น
โดยสรุป ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลกที่ยังคงเป็น “ปัญหาหนักอก” ในการปรับตัวเลขลงสู่เป้าหมาย 2% หลายประเทศ บรรดาธนาคารกลางโดยเฉพาะธนาคารกลางจีนและไทย จึงตัดสินใจเพิ่มการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเพื่อรักษามูลค่าเงิน ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงเตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ และสงครามครั้งใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้
อ้างอิง: bloomberg pptvhd36 visualcapitalist ธนาคารแห่งประเทศไทย twitter