เมื่อวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบแล้ว  ทำไมเรายังควรบริหารพอร์ตแบบ ‘Defensive’

เมื่อวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบแล้ว   ทำไมเรายังควรบริหารพอร์ตแบบ ‘Defensive’

ตลอดปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างคอยติดตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี แต่สิ่งสำคัญ คือ Fed ได้ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันอาจเข้าใกล้หรืออยู่ในจุดที่เป็น Terminal Rate แล้ว

แต่สถานการณ์นี้ ไม่ได้หมายความว่า เราควรหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยทันที เนื่องจากโอกาสการเกิด Recession ในสหรัฐได้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ด้วยความไม่แน่นอนสูงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป การรักษาพอร์ตให้ Defensive ยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยมี 3 เหตุผลหลัก คือ 

● การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่เร็ว และแรงกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

จากข้อมูลในอดีตพบว่า เมื่อธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ทั้งเร็ว และแรงเกินไปอาจส่งผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง โดยในช่วงปี 2007-2008 นั้น ส่งผลกระทบต่อภาคสินเชื่อ Subprime (ผ่าน Mortgage-backed Securities: MBS) ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงิน

 

โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในรอบปัจจุบันที่ทั้งเร็ว และแรงที่สุดนับจากทศวรรษที่ 1980 เริ่มส่งผลกระทบในธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐแล้ว หลังจากเกิดกรณีวิกฤติที่ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งผลกระทบลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐ แต่การที่ธนาคารกลางอังกฤษได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังทำให้เกิดความวุ่นวายในระบบบำนาญของอังกฤษในปีที่แล้วเช่นกัน

● ERAA™ ระบุว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวแต่เงินเฟ้อสูง) ซึ่งข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า ภาวะนี้เป็นภาวะที่ยากต่อการลงทุน โดย GDP ของสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 2023 ขยายตัวที่ 1.1% ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และชะลอตัวลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังยืดเยื้อกว่าที่คาด โดย Headline CPI และ Core CPI ปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.9% และ 5.5% YoY ตามลำดับ รวมทั้ง Core PCE ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ Fed มักอ้างอิงปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 4.6% YoY ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ Fed อาจคงอัตราดอกเบี้ย ในระดับสูงไปอีกสักพัก เพราะเงินเฟ้อปัจจุบันยังอยู่ห่างจากระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2%

● นักลงทุนอาจมองตลาดหุ้นเป็นบวกกว่าสถานการณ์จริง ถึงแม้ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ทั้งราคาหุ้น และการคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทต่างกลับอยู่ในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็น ด้านราคา พบว่าค่า P/E Ratio ล่วงหน้า 12 เดือนของดัชนี S&P 500 ยังอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ย 20 ปี ที่ 18.5 เท่า ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนด้านกำไร ตลาดยังคาดการณ์ว่าในปี 2023 กำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลดลงเพียง 1% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิด Recession ในอดีตที่ค่า EPS ปรับลงราว 16% โดยเฉลี่ย ดังนั้นโอกาสที่ค่า EPS จะปรับตัวลดลงในระยะข้างหน้าถือเป็นอีกความเสี่ยงในตลาดหุ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยปกติเมื่อธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างรวดเร็วหรือติดต่อกันหลายเดือน มักจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่จากข้อมูลในอดีตพบว่า ผลตอบแทนของหุ้นมักเป็นลบทั้งในช่วงก่อน และหลังจากที่ Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากการขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 180 วันก่อนที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ครั้งแรก ผลตอบแทน Median ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ลบ 7.5% ส่วนช่วง 180 วันหลังจากที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนของ Median จะอยู่ที่ลบ 6.7%

ดังนั้น จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังสะท้อนว่า ณ เวลานี้อาจยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง

ทั้งหมดนี้ เราจึงมองว่าการรักษาพอร์ตให้ Defensive ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต

● ตราสารหนี้ - พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น ยังคงน่าสนใจเพราะมีความเสี่ยงที่ต่ำและ Yield (อัตราผลตอบแทน) ในระดับสูงจากการที่ Fed น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ เรากำลังจับตามองตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐที่อาจจะ Outperform ได้ หาก Fed เริ่มมีท่าทีที่ชัดเจนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง

● หุ้น - ERAA™ ของเรายังคงสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ยังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกสหรัฐ

สุดท้ายนี้นักลงทุนอาจตัดสินใจได้ยากว่าควรทำอย่างไรในช่วงที่ตลาดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งนี้ เรายังแนะนำให้คุณโฟกัสที่การลงทุนระยะยาว โดยมีพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี เพื่อให้คุณก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นได้ และยังช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจไม่ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะใด

ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน การบริหารจัดการเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำหรือต่ำมาก

ทั้งนี้ หากคุณกำลังมองหาทางเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สินทรัพย์อย่าง ‘พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น’ คุณสามารถลงทุนโดยเน้นเฉพาะสินทรัพย์ประเภทนี้ได้ผ่าน ‘USD Cash Plus’ ที่ลงทุน 99% ใน ‘พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (1-3 เดือน)’ และปัจจุบันให้ Yield อยู่ที่ 5.3%*

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์