ทิศทางเศรษฐกิจจีน ปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนครึ่งปีหลัง

ทิศทางเศรษฐกิจจีน ปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนครึ่งปีหลัง

ยังคงมีทิศทางที่ไม่ดีนักสำหรับเศรษฐกิจจีนที่แม้จะผ่อนคลายนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสแรก แต่กลับแผ่วลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสสอง

โดยได้รับแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงเรื้อรังและลดทอนความเชื่อมั่นครัวเรือนลง โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่มีทิศทางชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จนทำให้เริ่มมีการคาดการณ์กันว่าภาครัฐฯ อาจจะจำเป็นจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมชุดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับครัวเรือนและภาคธุรกิจ และรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวไว้ให้ได้ โดยหลายๆ คนน่าจะจับจ้องการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ในเดือน ก.ค. นี้ ว่ามีมาตรการหรือไม่ หรือจะมีการส่งสัญญาณในลักษระใดบ้าง

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็จะส่งผ่านผลกระทบมายังเรื่องของตลาดทุน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นจีนในปี 2023 ยังคงให้ผลตอบแทนติดลบ (CSI300 -1.83%, H-Share -6.81% ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค. 66) สวนทางกับตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI 15.21%) ที่ให้ผลตอบแทนดีจากเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ย การคาดการณ์เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และเรื่องของหุ้นเทคโนโลยีในกลุ่ม Generative AI

 

ทำให้มีกองทุนชั้นนำบางแห่งเทขายหุ้นจีนออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมองไปในช่วงที่เหลือของปี ทิศทางของเศรษฐกิจจีนน่าจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นอีกเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเองก็มีทิศทางชะลอตัวที่ชัดเจน และปัจจัยอื่นๆ ทั้งเรื่องของนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และทิศทางเงินเฟ้อเริ่มลดความไม่แน่นอนลง ทำให้นักลงทุนน่าจะหันกลับมาสนใจเรื่องของทิศทางของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น โดยเราจะเห็นได้ว่าข่าวเรื่องมาตรการของจีนและเศรษฐกิจจีนนั้นถูกพูดถึงบ่อยมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐและธนาคารกลางก็ตระหนักถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโดยมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องออกมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate) รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษีซื้อรถยนต์และแผนปฏิบัติการ 10 ขั้นตอน เพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ภายในประเทศ

โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicles) การขยายเวลาการชำระคืนเงินกู้ออกไปหนึ่งปีสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ การกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ผ่านทางการปล่อยสินเชื่อที่ง่ายขึ้น และอื่นๆ แต่นโยบายทั้งหมดก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอที่จะฟื้นความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในประเทศและนักลงทุน และตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังคงออกมาสะท้อนโอกาสของการชะลอตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยที่ต้องจับตาดูต่อไปประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคดูเหมือนว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการในช่วงต้นปี ก่อนจะปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังนอกจากนั้นดูเหมือนว่าเงินออมจากช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นจากต่างจากประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ เนื่องจากลักษณะของการปิดเมืองและนโยบายการตุ้นเศรษฐกิจในช่วงของการแพร่ระบาด ทำให้อุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) นั้นมีไม่มากเท่า ทำให้ผลของการผ่อนคลายกับการใช้จ่ายของครัวเรือนเลยไม่สูงมากนัก โดยตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 12.7% หรือแม้แต่ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเกิน 10% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index) เดือน มิ.ย. หดตัว -5.4% สูงสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2558 สะท้อนอุปสงค์ของสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมที่ลดลง

(2) การลงทุนของภาคเอกชน สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ (Fixed Asset Investment) สะสมตั้งแต่ต้นปีที่ขยายตัวเพียง 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับต้นปีที่ขยายตัวในช่วง 5.0% - 5.5% (3) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนับเป็นแรงกดดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property Investment) นับตั้งแต่ต้นปีหดตัวสะสม -7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยอดการขายที่ดิน (Land Sales) ก็หดตัวลงเรื่อยๆ นั้บแต่ตั้งเดือน ก.ย. ปี 2022 ซึ่งทำให้รายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นลดลง และจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รวมถึงอาจนำมาซึ่งปัญหาการ Refinance ของ Local Government Financing Vehicles (LGFV) ที่สุดท้ายอาจต้องพึ่งความช่วยเหลือและงบประมาณจากรัฐบาลกลาง ซึ่งจะลดทอดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลาง และปัจจัยสุดท้าย (4) ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ชะลอตัวถึงจุดต่ำสุด แต่การส่งออกของจีนเอง ก็หดตัวแล้ว -12.4% ในเดือน มิ.ย. หดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ ก.พ. 2020 ในช่วงพีคของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของหลายๆ ประเทศหลัก ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ชี้ไปยังความเสี่ยงของเศรษฐกิจ ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มคาดว่าภาครัฐอาจจะต้องออกนโยบายมาเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปีนี้

โดยมาตรการที่นักวิเคราะห์คาดหวัง คือ มาตรการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีปัญหา เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการเชิงรุกที่จะเพียงพอสำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งความคาดหวังของนักวิเคราะห์เมื่อเทียบกับมาตรการที่อาจจะออกมา จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นจีนในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเราคงต้องรอคอยดูพัฒนาการกันต่อไปครับ ...

หมายเหตุ :บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด