เศรษฐกิจไทยกับรัฐบาล…ใหม่

เศรษฐกิจไทยกับรัฐบาล…ใหม่

หลังรัฐสภาโหวตให้ความเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ทำให้สูญญากาศทางการเมืองที่ปกคลุมบรรยากาศการลงทุนมาหลายเดือนลดลง

หากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้อีกหรือไม่บนความท้ายทายของการจัดตั้งรัฐบาลผสม คงต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเลือกสรรแม่ทัพและทีมงานคนสำคัญๆ เพื่อนำไปสู่การแถลงและดำเนินการตามนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ให้คืบหน้าและประสบความสำเร็จตามความคาดหวังของประชาชน

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เปิดเผยคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะแถลงต่อรัฐสภา โดยแบ่งกรอบระยะเวลาและความสำคัญของการดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะสั้น เน้นกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อจุดประกายให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้งและเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
  • ระยะกลางและระยะยาว เน้นเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน โดยสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สิน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นต้น

ระยะเวลาที่ใช้จัดตั้งรัฐบาลทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี ดังนั้น เครื่องยนต์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2023 จึงเน้นไปที่การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปีนี้ ประเทศไทยจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประมาณ 28 ล้านคน

และในถ้อยแถลงจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มีเป้าหมายจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า มากไปกว่านั้น รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ที่สำคัญ

นักวิเคราะห์หลายท่านคาดการณ์ว่า “นโยบายทั้งหลายของรัฐบาลใหม่อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปี ข้างหน้าได้อีกประมาณ 1.0%” อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลยังต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการจุดเปราะบางทางโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนต้นทุนทางการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อนโยบายโดยเฉพาะด้านการบริโภคและการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ

ตลาดหุ้นไทยตอบรับในเชิงบวกหลังสภาให้ความเห็นชอบในการโหวตนายกรัฐมนตรี นำโดยหุ้นกลุ่มการบริโภคภายในและค้าปลีกที่ราคาขยับขึ้นแรงจากความคาดหวังที่ว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ตลาดตราสารหนี้ไทย ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดของไทยที่ต่ำกว่าตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของการซื้อขายตราสารหนี้ไทยนับว่าอยู่ในกรอบจำกัดเพราะตลาดมีสภาพคล่องสูง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลงจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกต่อภาคส่งออก และปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่ฉุดกำลังซื้อ ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังดูอ่อนแอนี้ ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธปท.อาจจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นี้

จากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องกำหนดมาตราการกระตุ้น เนื่องจากรายงานใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีปัจจัยกดดันทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน รวมถึงดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงส่งผลต่อความสามารถในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ

แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังต้องการการขยายตัวอีกมาก แต่ก็นับได้ว่าฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติได้แล้ว ระดับราคา (Valuation) ของตลาดหุ้นไทยก็อยู่ในจุดที่สมเหตุสมผลและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี การเดินหน้าทำตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะสนับสนุนตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

โดยนักลงทุนควรเลือกสรรหุ้นผ่านผู้เชี่ยวชาญและจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายๆ ตัว กองทุนรวมเป็นเครื่องมือที่ดี โดยควรเลือกกองทุนที่บริหารเชิงรุก (Active Management) และมีผลการดำเนินงานโดดเด่นในระยะยาวเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัดและกองทุนอื่นๆ ในอุตสาหกรรม