3 เหตุผลทำไมการลงทุนต่างประเทศยังคงจำเป็นสำหรับนักลงทุน
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากฝั่งอุตสาหกรรมลงทุนอยูบ้าง แต่ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ผู้ที่นำเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามายังประเทศไทยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร (ตามคำสั่งที่ ป.161/2566 เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรการ 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฏากร) อย่างค่อนข้างแน่นอน
ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จะนำรายได้จากต่างประเทศมาคำนวณเฉพาะการนำเงินกลับประเทศไทยในปีภาษี (พ.ศ.) เดียวกันเท่านั้น โดยรายได้จากต่างประเทศครอบคลุมหลายๆ ส่วนทั้งจากหน้าที่การงานที่ทำที่ต่างประเทศ เช่น งานอิสระต่างๆ กิจการที่ทำอยู่ต่างประเทศ และทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเข้าข่ายเรื่องของกำไรหรือเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วย
โดยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้นตกอยู่กับกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง (Direct Investment) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงผ่านตัวแทนในประเทศไทย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือผ่านกองทุนรวม และอาจจะก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นที่จำเป็นจะต้องพิจารณาสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดต้นทุนสำหรับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่การลงทุนในต่างประเทศนั้นยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงหรือโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เสมอ วันนี้เราลองมาทบทวนสาเหตุสำคัญว่าทำไมเรายังคงต้องไปลงทุนต่างประเทศกันครับ
ประการแรก คือ โอกาสของการลงทุนในอุตสาหกรรมและวัฏจักรที่แตกต่างออกไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในกลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีการเติบโตที่โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเทคโนโลยีนั้นเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ Mega Trends ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและอาจจะต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย หรือหากพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะของเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถมีส่วนต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สุขภาพ การเงินต่างๆ ที่อยู่ในวัฏจักรที่แตกต่างจากของไทยได้ ทั้งอุตสาหกรรมและวัฏจักรที่แตกต่างกันนั้นเปิดโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้
ประการที่สอง คือ รูปแบบของการลงทุนที่กว้างกว่า ตลาดการเงินของไทยทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนหากเทียบกับต่างประเทศนับว่ามีขนาดเล็กมาก รวมถึงทางเลือกของการลงทุนที่จำกัดกว่ามาก โดยตลาดต่างประเทศนั้นเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายกว่าหรือเข้าถึงตราสารที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่หลากหลายกว่า เช่น การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) ที่มีทางเลือกให้ลงทุนได้กว้างกว่ามากและครอบคลุมแทบจะทุกชนิดของสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ หรือแม้แต่การลงทุนโดยตรง เช่น ในกลุ่มของตราสารหนี้ก็จะมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นในกลุ่มตราสารนอกตลาด (Private Assets) นั้นก็นำเสนอทางเลือกที่น่าสนใจเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งรูปแบบของการลงทุนที่มากกว่าก็จะทำให้การบริหารพอร์ตฟอลิโอทำได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เมื่อตลาดการเงินมีขนาดใหญ่ก็จะทำให้มีสภาพคล่องที่ดีกว่าด้วย
ประการที่สาม คือ การช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุน เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกแม้จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในระดับหนึ่งผ่านทางการค้าขายสินค้าและบริการ รวมถึงการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจต่างๆ ก็ยังเติบโตและเปลี่ยนแปลงในวัฏจักรที่แตกต่างกันอยู่เสมอ ในบางช่วงบางประเทศอาจจะเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการที่เศรษฐกิจเติบโตและเคลื่อนไหวในจังหวะที่แตกต่างกันจะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถจัดสรรเงินลงทุนและสัดส่วนของการลงทุนให้เหมาะสมอยู่เสมอได้
ส่วนทางเลือกของการลงทุนที่อาจจะลดภาระจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็สามารถทำได้ ผ่านการลงทุนในประเทศไทยในผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทุนในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง โดยหลักๆ มี 3 ทางเลือก ได้แก่ (1) กองทุนรวม (Mutual Fund) (2) กองทุนรวม ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (3) ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือที่เรียกกันว่า DR (Depositary Receipt) และ DRx (Fractional Depositary Receipt) ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แม้จะมีทางเลือกให้ไม่มาก แต่ก็นับได้ว่าอาจจะช่วยลดผลกระทบลงได้บางส่วน ช่องทางต่างๆ นั้นล้วนแล้วแต่มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป นักลงทุนควรจะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเริ่มลงทุน
การลงทุนในต่างประเทศนั้นยังน่าจะจำเป็นและยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญของการจัดสรรเงินลงทุน การเพิ่มเข้ามาของประเด็นทางด้านภาษีนั้นแม้อาจจะเพิ่มต้นทุนให้กับนักลงทุนบางส่วน แต่ก็อาจจะไม่สามารถลบล้างผลประโยชน์ของการลงทุนในต่างประเทศลงได้ สิ่งที่ควรทำหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายเพิ่มเติม คือ การบริหารสัดส่วนการลงทุนโดยการคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนกระบวนการวางแผนการลงทุนและการวางแผนภาษีให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด