ลงทุนหุ้นกู้อย่างไรให้สบายใจ สัดส่วนทางการเงินและจุดที่นักลงทุนต้องใส่ใจ
หุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้ 890,908 ล้านบาท 88% คิดเป็นมูลค่า 791,332 ล้านบาท อยู่ในกลุ่ม Investment Grade และที่เหลือ 12% อีก 99,586 ล้าน เป็นเป็นกลุ่มNon-investment Grade หรือ High Yield และ Non-rated
ท่ามกลางคำแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ตามทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดและมีโอกาสปรับตัวลดลงในปีนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในตลาดตราสารหนี้ไทย คือ เรื่องของการโรลโอเวอร์ (Rollover) หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ โดยข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แสดงให้เห็นว่าจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้ 890,908 ล้านบาท โดย 88% คิดเป็นมูลค่า 791,332 ล้านบาท อยู่ในกลุ่มที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และที่เหลือ 12% อีก 99,586 ล้านเป็นเป็นกลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment Grade หรือ High Yield) และกลุ่มที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) ซึ่งหากนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ หลังจากในปีที่ผ่านมามีประเด็นเกิดขึ้นมากมายในกลุ่มหุ้นกู้ที่ผู้ออกค่อนข้างจะมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนนั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และอาจจะส่งผลให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้
โดยทั่วไป การผิดนัดชำระหนี้มักจะเกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ (1) งบการเงินและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ไม่แข็งแรง และ (2) เรื่องของการทุจริต ตกแต่งงบการเงิน ยักยอกสินทรัพย์บริษัทต่างๆ โดยในส่วนแรกอาจจะเกิดจากเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เช่น เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างเฉียบพลัน (Shock) เช่น การระบาดของ COVID-19 ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาสภาพคล่องและการ Rollover ด้วย และปัญหาที่เกิดจากการดำเนินกิจการของบริษัทเอง หรือ สรุปง่ายๆ เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกบริษัท ทิศทางของงบการเงินอาจจะค่อยๆ แย่ลง หรืออาจจะแย่ลงอย่างฉับพลันได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการขาดสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนนี้สามารถลดความเสี่ยงจากเรื่องของการพิจารณางบการเงินได้ ในส่วนที่สองคือเรื่องของการทุจริตต่างๆ อาจจะต้องอาศัยการประเมินจากรายงายความเห็นของผู้สอบบัญชีและเรื่องของบรรษัทภิบาล (Governance) ประกอบการตัดสินใจเป็นหลัก
เรื่องของงบการเงินและสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นมีหลายประเด็นที่นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิศทางของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมและบริษัทต่างๆ แตกต่างกัน การขึ้นลงของเศรษฐกิจเกิดจากสาเหตุอะไร นโยบายภาครัฐเป็นอย่างไรบ้าง และเรื่องของความแข็งแกร่งของตัวกิจการเองที่จะสะท้อนผ่านงบการเงิน โดยสัดส่วนทางการเงินที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้นั้นมีหลากหลายและอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม แต่สัดส่วนทางการเงินขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น (สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน) สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (หนี้สิน/ส่วนของผู้ถือหุ้น) ความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้/ดอกเบี้ยจ่าย) กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และความสามารถในการทำกำไร (รายได้สุทธิ/รายได้ขั้นต้น) นั้นเป็นสัดส่วนทางการเงินขั้นต้นที่สามารถใช้ได้ในเบื้องต้น โดยการพิจารณาสัดส่วนทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นจะต้องพิจารณาใน 3 มิติ ได้แก่ (1) ทิศทางเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต (2) เทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และ (3) ทิศทางในอนาคตที่พิจารณาจากทิศทางของเศรษฐกิจและแนวโน้มธุรกิจ นอกจากนี้อาจจะพิจารณาจากการอ่านงบดุล งบกระแสเงินสด และงบกำไรขาดทุนโดยรวมว่ามีอะไรผิดปรกติหรือไม่ เช่น สินทรัพย์ทั้งหมดเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไปหรือไม่ ลูกหนี้การค้ายังจ่ายเงินตามกำหนดการเดิมหรือไม่ กำไรสะสมมีทิศทางเป็นอย่างไร เป็นต้น
อีกจุดหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ คือ การอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของรายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีที่แบ่งออกเป็น 4 แบบ ตามประเภทความเห็น ได้แก่ (1) ไม่มีเงื่อนไข หรือ งบการเงินที่ถูกต้องตามที่ควรเป็น มีสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (2) เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจำเป็นจะต้องอ่านเพิ่มเติมให้ละเอียดอย่างเงื่อนไขที่ผู้สอบบัญชีกังวลมีประเด็นอะไรบ้าง (3) งบการเงินไม่ถูกต้อง และ (4) ไม่แสดงความเห็น ซึ่งในข้อ (2) ถึง (4) นั้นจำเป็นจะต้องระมัดระวังและเพิ่มเติมในรายละเอียดก่อนลงทุน รวมถึงเรื่องของบรรษัทภิบาลของบริษัทผู้ออกและผู้บริหารระดับสูง ที่จะสะท้อนออกมาจากข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลจากบริษัทเองและจากสถาบันด้านการประเมินจากภายนอก รวมถึงแนวทางในการทำธุรกิจที่ผ่านมาด้วยทั้งเรื่องของกิจการและผู้บริหาร
สุดท้ายนี้ หัวใจสำคัญของการลงทุนในหุ้นกู้ คือ ความสมดุลระหว่างดอกเบี้ย ความเสี่ยงที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้และระดับความรู้ความเข้าใจในตราสารหนี้ การขึ้นลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ อาจเสริมด้วยการเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่คุ้นเคย หลีกเลี่ยงธุรกิจที่อาจจะมีการใช้ Financial Leverage เยอะตามธรรมชาติของธุรกิจ และการกระจายความเสี่ยงทั้งในเรื่องของบริษัทผู้ออกและอุตสาหกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะด้านการผิดนัดชำระหนี้ได้ ไม่มีการลงทุนใดที่ปราศจากความเสี่ยง และแม้เราจะทำครบถ้วนทุกอย่างแต่เมื่อเป็นการลงทุนก็ย่อมต้องมีความเสี่ยงแฝงอยู่ แต่การไม่ลงทุนก็นับเป็นความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง ทำให้เราจำเป็นจะต้องจะต้องพิจารณาและตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้องอยู่เสมอครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด