ทำไมแบงค์ชาติต้องมีความเป็นอิสระ?

ทำไมแบงค์ชาติต้องมีความเป็นอิสระ?

การเงินการธนาคารระดับโลกหรือการบริหารการเงินระดับประเทศขึ้นอยู่กับหลักการทางทฤษฎีและการวิเคราะห์วิจัยจากมืออาชีพโดยละเอียดรอบคอบตามมาตรฐานสากล แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยละเอียดอ่อนซึ่งไม่สามารถจะประเมินหรือควบคุมได้คือความเชื่อมั่นของสาธารณะ

ปีนี้เป็นปีพิเศษที่มีการเลือกตั้งครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งของโลก นโยบายการหาเสียงเพื่อเอาใจประชาชนโดยเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดดอกเบี้ยหรืออัดฉีดเงินเข้าในระบบเพื่อการหมุนเวียนเพิ่มจีดีพีต่างๆ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไป นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็พยายามรักษาคำสัญญาที่ประกาศไว้ และหวังผลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารของรัฐบาลกับธนาคารแห่งชาติ (หรือธนาคารกลางหรือแบงค์ชาติ) จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวและบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายได้ ซึ่งนำมาสู่ประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งชาติว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เปลี่ยนแปลงได้ไหม

หากฝ่ายบริหารรัฐบาลไม่สามารถจะชี้แนะหรือกดดันธนาคารแห่งชาติให้ความร่วมมือ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยหรืออำนวยความสะดวกกับการเพิ่มเงินในกระแส แล้วนโยบายในการบริหารประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจและความมั่นคงนั้นจะสำเร็จได้อย่างไร

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านธนาคารแห่งชาติต่างๆได้ยกประเด็นเรื่องนี้มาถกเถียงกันตลอดมาตั้งแต่ ปีค.ศ. 1971 ซึ่งประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐอเมริกาแถลงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (The Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยลง การกดดันสำเร็จทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลหาเสียง และทำให้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ต่อมาอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงและมีผลกระทบทางลบต่อการจ้างงานติดต่อกันหลายปี จนในที่สุดในช่วงปี 1980 มีการออกกฏหมายเข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร (Paul Volcker, The Fed Chairman 1979-1987)

นโยบายของสหรัฐฯตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากลายเป็นแม่แบบให้ธนาคารกลาง/ธนาคารแห่งชาติในแต่ละประเทศทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐาน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วก็แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขและปัจจัยของแต่ละประเทศ

ทำไมธนาคารกลางของสหรัฐ(The Fed)จึงต้องเป็นอิสระ?

เหตุผลหลักคือต้องการให้ The Fed ได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของการเมืองในระยะสั้น หากกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจสามารถผลักดันนโยบายการเงินการธนาคารเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับตนเองจะเกิดผลเสียระยะยาวเช่นเงินเฟ้อหรือการตกงานและที่สำคัญคือขาดมาตรฐานและความเชื่อถือที่นักลงทุนสากลใช้เป็นหลักการในการตัดสินใจการลงทุน

อีกทั้งการขาดมาตรฐานเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งชาติอาจนำมาสู่ความอ่อนแอของสกุลเงินตราในประเทศ เงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อลดลงซึ่งเกิดผลเสียหายต่อเจ้าหนี้และเจ้าของเงินฝากในธนาคาร

ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งชาติมีผลเสียหรือไม่?

เรื่องความเป็นอิสระนี้ก็มีผู้ค้านเช่นเดียวกันโดยอ้างเหตุผลว่าสถาบันอิสระต่างๆนั้นขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่เป็นการแต่งตั้ง และไม่มีความกดดันที่จะต้องตอบสนองโดยตรงต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและต้องตอบคำถามของประชาชนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งคือธนาคารแห่งชาติอาจใช้ความเป็นอิสระเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ประสานงานกับฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฏหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีและการทำงบประมาณใช้จ่ายในการบริหารประเทศ

หากรัฐบาลทั้งฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติลดอัตราภาษีอากรเพื่อ เงินที่หมุนเวียนในระบบในขณะเดียวกันธนาคารแห่งชาติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งเป็นการลดเงินหมุนเวียนในระบบก็จะเป็นการทำนโยบายสวนทางกัน

The Fed สามารถออกนโยบายการเงินหลักและอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยที่ไม่ต้องขออนุมัติจากประธานาธิบดี แต่กรรมการของ The Fed ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและยืนยันโดยรัฐสภา และรัฐสภามีสิทธิตามกฏหมายรัฐธรรมนูญในการดูแลตรวจสอบการทำงานของ The Fed ให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

The Fed ปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ เพื่อรักษาปริมาณเงินหมุนเวียนของธนาคารแต่ละแห่งในระยะสั้น โดยแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินที่ใช้ค้ำประกันเช่นสัญญาเงินกู้หรือหลักทรัพย์ต่างๆ

ธนาคารแห่งชาติเป็นสถาบันที่จัดการสกุลเงินและนโยบายการเงินของประเทศ เช่น เพิ่มฐานการเงิน และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ในประเทศทั้งหมด โดยมีอำนาจกำกับดูแลเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์

และในบางกรณียังบังคับใช้นโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน และการต่อต้านการฉ้อโกงทางธนาคาร การฟอกเงิน หรือการจัดหาเงินทุนจากการก่อการร้าย

การจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและทองคำสำรองและพันธบัตรรัฐบาลของประเทศ

การควบคุมและกำกับดูแลอุตสาหกรรมการธนาคารและการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

การจัดการหรือกำกับดูแลวิธีการชำระเงินและระบบการหักบัญชีระหว่างธนาคาร

การออกเหรียญและธนบัตร

หน้าที่อื่นๆ ของธนาคารกลางอาจรวมถึงการวิจัยทางเศรษฐกิจ การรวบรวมสถิติ การกำกับดูแลแผนการค้ำประกันเงินฝาก การให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในด้านนโยบายทางการเงิน

บทเรียนเรื่องการเมืองในสหรัฐฯกับThe Fed ล่าสุดคือปีค.ศ. 2018 ซึ่งอดีตประธานาธิบดี Trump แถลงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขู่ว่าจะเสนอชื่อประธาน The Fed คนใหม่เข้ามาแทนหากไม่สนองนโยบายของตน ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการลงทุนและการธนาคารทั่วโลกไประยะหนึ่งจนความคิดนั้นล้มเลิกไป

รัฐบาลจีนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงนโยบายของธนาคารแห่งชาติของจีน (PBOC) เช่นกัน ส่วนรัฐบาลอินเดียล่าสุดก็ถูกครหาว่าแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดส่วนตัวกับผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันให้เป็นผู้บริหารธนาคารแห่งชาติอินเดีย (CBI)

การเงินการธนาคารระดับโลกหรือการบริหารการเงินระดับประเทศขึ้นอยู่กับหลักการทางทฤษฎีและการวิเคราะห์วิจัยจากมืออาชีพโดยละเอียดรอบคอบตามมาตรฐานสากล แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยละเอียดอ่อนซึ่งไม่สามารถจะประเมินหรือควบคุมได้คือความเชื่อมั่นของสาธารณะ

ประชาชนควรได้รับการสื่อสารที่ชัดเจนจากผู้บริหารรัฐบาลซึ่งมีความตั้งใจจริงในการบริหารประเทศเพื่อเศรษฐกิจที่มั่นคงและธนาคารแห่งชาติซึ่งยึดมั่นในหลักการและวินัยของมาตรฐานสากลเพื่อเสถียรภาพในระบบ ความเห็นต่างที่มาจากเจตนาบริสุทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ ขอเรียกร้องและให้กำลังใจทั้งสองฝ่ายให้หาทางประสานงานกันด้วยความอดทนและมีบทสรุปที่เหมาะสมโดยเร็วครับ